วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

อุทยานฯแจ้ซ้อน น้ำพุร้อนและไข่ต้ม

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์
ในบรรดาอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศไทย ดูเหมือนว่าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนของเรา จะมีความโดดเด่นกว่าใครเขาก็ตรงที่มีพร้อมทั้งน้ำตก บ่อน้ำพุร้อน และห้องอาบน้ำแร่ที่ออกแบบอย่างสวยงาม อยู่ในบริเวณเดียวกัน สามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย เราจึงได้เล่นน้ำตกที่เย็นฉ่ำ สลับไปนอนแช่น้ำแร่จนเนื้อตัวสบายเบาหวิว

 
เมื่อพูดถึงคำว่า “บ่อน้ำพุร้อน” เราอาจนึกไปถึงภาพของน้ำใต้ดินผุดพุ่งขึ้นมาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม แต่บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนไม่ได้เป็นเช่นนั้น บ่อน้ำพุร้อนของเรามีพื้นที่ราว 3 ไร่ มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ 9 บ่อ ลักษณะเป็นบ่อตื้น ๆ หลายบ่อรวมอยู่ในบริเวณที่ระเกะระกะไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ จะพบว่า แต่ละบ่อมีแค่ฟองอากาศผุดปุด ๆ ขึ้นมาจากข้างใต้เท่านั้น ไม่เห็นเป็น “บ่อน้ำพุร้อน” ตรงไหน นั่นเพราะเรานำไปเปรียบเทียบกับน้ำพุร้อนสันกำแพง หรือน้ำพุร้อนที่ฝางของเชียงใหม่ ซึ่งมีน้ำใต้ดินพุ่งขึ้นมาเป็นระยะ ของเราน่าจะเรียกว่า “บ่อน้ำร้อน” ก็พอ

 

อันที่จริงจะเรียกว่า บ่อน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน โป่งน้ำร้อน หรือโป่งเดือด ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นชื่อที่เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่นักวิชาการกลับใช้คำว่า “พุน้ำร้อน”

พุน้ำร้อนมีความสัมพันธ์กับบริเวณที่เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัว เมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัว จะเกิดรอยคดโค้ง หรือรอยเลื่อนของชั้นหินขึ้น ทำให้ความร้อนที่อยู่ใต้พิภพถ่ายเทมาถึงบริเวณนี้ เมื่อน้ำใต้ดิน ซึ่งก็คือน้ำจากผิวโลกที่ซึมผ่านรอยแยก หรือช่องโพรงในหิน ซึมลึกลงไปใต้พื้นผิวโลก น้ำใต้ดินจะมีความร้อนสูงจนกลายเป็นไอน้ำ และดันให้น้ำร้อนใต้ดินพุ่งกลับขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นพุน้ำร้อนในที่สุด พุน้ำร้อนบางแห่งมีแก๊สและแร่ธาตุจากใต้พื้นโลกไหลปะปนขึ้นมาด้วย อาทิ กลิ่นกำมะถัน ซึ่งเรามักได้กลิ่นเวลาเดินเข้าใกล้พุน้ำร้อน คล้าย ๆ กลิ่นของไข่ต้ม ชวนให้คิดไปว่า เอ...นี่นักท่องเที่ยงพากันมาต้มไข่ในบ่อน้ำพุร้อนมากเสียจนทั่วบริเวณอบอวลไปด้วยกลิ่นไข่ต้มกระนั้นหรือ

 

พุน้ำร้อนมีหลายลักษณะ บางแห่งที่มีกำลังแรงไม่มาก ก็จะมีเพียงน้ำรินไหล หรือเดือดปุด ๆ แต่บางแห่งมีกำลังแรงมาก ถึงขนาดทำให้น้ำพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน โดยมีไอน้ำและแก๊สพุ่งออกมาด้วย พุน้ำร้อนลักษณะนี้มักมีแรงอัดดันให้น้ำพุ่งขึ้นมาเป็นพัก ๆ เมื่อหมดแรงส่ง น้ำจะหยุดพุ่ง จนเมื่อสะสมกำลังได้มากพอ ก็จะดันน้ำและไอน้ำให้พุ่งขึ้นมาได้อีก นักวิชาการเรียกพุน้ำร้อนชนิดนี้ว่า “กีเซอร์” น้ำพุร้อนที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เข้าข่ายกีเซอร์ด้วย

บ่อน้ำพุร้อนไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูได้ทุกภาคของประเทศไทย ภาคอีสานไม่มีบ่อน้ำพุร้อนแม้แต่แห่งเดียว ทว่ามีอยู่กระจัดกระจายในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก รวมกัน 16 แห่ง อยู่ในภาคเหนือมากที่สุดถึง 50 แห่ง รองลงไปคือภาคใต้ มีอยู่ 25 แห่ง รวมแล้วประเทศไทยมีบ่อน้ำพุร้อนทั่วประเทศ 91 แห่ง

 

ฤดูที่เหมาะที่สุดที่จะไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน คือ ช่วงปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากสภาพป่ายังเขียวครึ้มอยู่ อีกทั้งบริเวณบ่อน้ำพุร้อนในช่วงเช้าและเย็น จะเป็นช่วงที่ไอน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนปะทะกับความเย็นของอากาศโดยรอบ เกิดเป็นม่านหมอกไอน้ำลอยปกคลุมสวยงามราวกับภาพฝัน

นอกจากความรื่นรมย์ทางสายตา เรายังสามารถสัมผัสบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนได้อย่างใกล้ชิดจาก 2 กิจกรรม

กิจกรรมแรก คือ การนอนแช่น้ำแร่ในห้องอาบน้ำแร่ กล่าวกันว่า เนื้อตัวที่เบาสบายขึ้นหลังการอาบน้ำแร่นั้น เป็นผลมาจากการที่เลือดไหลเวียนดีขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงจะไปขยายหลอดเลือด ทำให้หัวใจสูบฉีด เลือดส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดีขึ้น นอกจากนั้น น้ำแร่ยังบำบัดความปวดเมื่อยได้ และช่วยขจัดสิ่งสกปรกออกจากรูขุมขน ช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง

ส่วนกิจกรรมที่สอง ใครต่อใครที่มาเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน (และแน่นอน มันคือธรรมเนียมของการเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนทั่วประเทศ) มักไม่พลาดการต้มไข่ในน้ำแร่ ด้วยการถือกระเช้าเล็ก ๆ ใส่ไข่ไก่ หรือไข่นกกระทา ติดไม้ติดมือมาหย่อนทิ้งไว้ในบ่อน้ำพุร้อน เมื่อถึงเวลาก็เดินมายกเก็บขึ้นไป มีซอสขวดหนึ่งก็อร่อยกันได้ทั้งครอบครัว แต่ถ้าจะให้ดูเป็นเรื่องเป็นราวเข้าขั้นมืออาชีพ ก็ต้องเมนูนี้ “ยำไข่น้ำแร่”

 

ยำไข่น้ำแร่ คือ ไข่ไก่ต้มในบ่อน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส โดยระยะเวลาดีที่สุดที่ได้รับการพิสูจน์และรับรองอยู่ที่ 17 นาที อันเป็นเวลาที่ไข่แดงจะสุกแข็ง ในขณะที่ไข่ขาวยังเหลวอยู่ จากนั้นนำไข่ไปยำ โดยราดน้ำยำที่ปรุงด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา พริก หอมซอย โรยหน้าด้วยกุ้งแห้งป่น

ดูเหมือนอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนของเราจะครบครันไปด้วยประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการได้ผ่อนคลายอารมณ์จากการชื่มชมธรรมชาติที่สวยงาม แช่น้ำแร่ร้อนแล้วก็หายปวดเมื่อย ผิวพรรณผ่องใส แถมยังได้อิ่มอร่อยจากเมนูเบา ๆ ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและสมุนไพร อืม...ช่างดีงามต่อสุขภาพแบบองค์รวมจริง ๆ

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์