วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เปิดปม ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ลาออกประธานกองทุนฯแม่เมาะ ทำให้โครงการปี 64 ชะงัก

 



หลังจากที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เข้ามารับช่วงนั่งประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะต่อจากผู้ว่าฯ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ที่เกษียณอายุราชการไปได้เพียง 1 ปี ก็เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ลาออก” โดยหลายคนไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะเหตุใด แต่การลาออกของผู้ว่าฯ ทำให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าชะงัก ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณได้  

อ่าน ตอนที่ 1 https://www.lannapost.net/2021/05/300.html

อ่าน ตอนที่ 2 https://www.lannapost.net/2021/06/blog-post_7.html

โดยวันที่ 14 ก.ย. 63 ได้มีชาวบ้านรวมตัวกันมาเรียกร้องสิทธิ์ โครงการต่างๆของชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 44 หมู่บ้าน ได้เสนอโครงการไปแต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด และได้ทำหนังสือ ไปยัง กกพ.ส่วนกลาง เพื่อขออนุมัติเลื่อนการตัดงบประมาณ กว่า 300 ล้านบาท ที่จะหมดงบประมาณช่วงสิ้นเดือน กันยายน 2563 นี้ ออกไป 90 วัน  ซึ่งงบประมาณในปี 63 ยังดำเนินการต่อไปได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากยังมีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (คพรฟ.) ชุดเดิมทำงานอยู่ ซึ่งรองประธานฯ สามาถเซ็นอนุมัติได้ แต่เมื่อ คพรฟ.หมดวาระลง ประกอบกับมีการตั้งกฎระเบียบใหม่ ให้สรรหากรรมการจากภาคประชาชน 20 คน ตัวแทนภาครัฐ 6 คน ตัวแทนผู้ว่าฯ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน  ทำให้งบประมาณในปี 2564 ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ และยาวนาน ทำให้โครงการในปี 2564 ไม่ได้รับการอนุมัติแม้แต่โครงการเดียว

จึงเกิดปัญหาครูอัตราจ้างใน อ.แม่เมาะ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับเงินเดือนจากงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาโดยตลอด ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากที่พวกตนไม่ได้รับเงินเดือนมานานหลายเดือน ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 ครูได้มารวมตัวกันอีกครั้ง เนื่องจากใกล้จะหมดปีงบประมาณแล้ว พวกตนไมได้เงินเดือนมา 11 เดือน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันอย่างมาก ขณะที่ทางรองผู้ว่าฯ รับเรื่องและรับปากว่าจะช่วยเหลือโดยเร็ว

ลานนาโพสต์มีโอกาสสอบถามถึงปัญหากองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะกับ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์  ถึงความล่าช้าในการดำเนินการ  นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร  กล่าวว่า   ติดปัญหาคือ ส่วนกลางไม่ช่วยอะไรเลย  และหลายอย่างทำผิดกฎหมาย เช่น  กฎหมายบอกให้จ่าย 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า แต่แม่เมาะจ่ายให้ทั้งอำเภอได้อย่างไร แค่นี้ก็ผิดแล้ว ข้อกฎหมายบอกว่าถ้าจะจ่ายเกิน 5 กิโลเมตร ต้องมีงานวิจัยว่ามีผลกระทบจริงๆ และต้องทำประชาคม แต่ไม่มีการทำทั้งสองอย่าง  ซึ่งเคยทักท้วงไปแล้วว่าผิด  ตอนนี้ข้อเท็จจริงคือ คนแม่เมาะได้รับผลกระทบน้อยกว่า อ.เมืองลำปาง  เทียบกันในปี 62 คนในพื้นที่ อ.เมืองป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ 8 หมื่นกว่าคน ในขณะที่คนใน อ.แม่เมาะ ป่วยไม่มาก แต่ไม่เคยมีใครพูด  อีกทั้งมลภาวะทั้งหมดลมพัดเปลี่ยนทิศทางไปตกที่ อ.แม่ทะ ซึ่งอยู่ห่างไม่ถึง 10 กิโลเมตร และไปทาง ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปางห่างไป 5 กิโลเมตร  แต่ ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะห่าง 50  กิโลเมตร กลับได้เงิน 20ปีที่ผ่านมา เงินลงแม่เมาะไป 2 หมื่นล้าน เห็นไหมว่ามีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นใน อ.แม่เมาะ มีแต่กลุ่มแกนนำบางคนที่รวย แล้วคนที่ได้รับความเดือดร้อน คือ อ.เมืองลำปาง กับ อ.แม่ทะ ไม่เคยได้   เมื่อถามไปส่วนกลางก็บอกว่า คพรฟ. เสนอมาแบบนี้ก็เป็นเรื่องของ คพรฟ.   ผมเองก็เป็นคณะกรรมการ คพรฟ. เมื่อรู้ว่าทำแบบนี้ผิดแล้วจะให้ทำงานร่วมกันได้อย่างไร             

ในยุคที่ผมเป็นผู้ว่าฯ คุณสั่งของแต่ไม่มีการส่งของ ผมตั้งกรรมการสอบสวน  กรรมการภาคประชาชนกลับบอกว่าผู้ว่าฯไม่มีอำนาจ อำนาจต้องเป็นของบอร์ด  บอร์ดพลิกกลับยกเลิกกรรมการสอบสวนที่ผู้ว่าฯแต่งตั้ง ไปเอานาย ก นาย ข มาเป็นประธานสอบสวน   เงินเสียไปเป็นล้านแต่ยังไม่มีผลการสอบสวนออกมา

          ปี 63 ขออนุมัติซื้อปั๊มน้ำเป็นพันตัว  ปั๊มน้ำตัวละ 7 พัน ซื้อ 1.5 หมื่น ที่บ้านผมซื้อตู้เย็นเงินสด 7,500 บาท กองทุนขอซื้อตู้ละ 2 หมื่นบาท ผมก็ไม่เซ็นให้  มวลชนมาด่าผู้ว่าฯ ไล่ผู้ว่าฯออก  ที่ผ่านมามีใครเคยสนใจไหมว่าชาวบ้านโกงหลวง  คิดกันแต่ว่าราชการกดดันชาวบ้าน  ไม่มีใครเคยมาดูตรงนี้  

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำไม่ได้ผมบอกไปว่าโครงการต้องอนุมัติตามกฎหมาย  ถ้างบเกิน 3 แสนบาทต้องเป็นอำนาจผู้ว่าฯ อนุมัติ  ก็เลยไปตัดงบกันหมดเหลือ 2.9 แสน ผู้ว่าฯจะได้ไม่ต้องรู้เรื่อง พองบต่ำกว่า 3 แสนไม่ต้องทำประชาคมชาวบ้านไม่ต้องรู้เรื่องก็ได้ มี 3 คนก็ทำได้  พอทราบเรื่องผมก็บอกว่าไม่ให้ แต่เขาบอกทำไปแล้ว ถ้าเกิด ป.ป.ช.มีการสอบขึ้นมามีความผิด  เป็นคุณจะทำอย่างไร  “ผมจึงตัดสินใจลาออก ก่อนที่จะดำเนินโครงการ”  และส่งเรื่องไปส่วนกลางว่า ให้กรรมการชุดเดิมทำงานต่อได้   และถ้าอยากรู้ว่าข้างในเป็นอย่างไรก็ให้ส่งคนส่วนกลางมานั่งเป็นกรรมการแทนผม สัก 2 เดือนคุณจะรู้  แล้วจะปล่อยให้ระบบแบบนี้เป็นเหลือบกินอยู่ในแม่เมาะอีกมหาศาลต่อไปขนาดไหน  รายงานไปส่วนกลางก็ไม่ช่วยอะไรเลย ตัดคนของผมออกหมด ให้ไปตกลงกันเอง แล้วใครจะไปดูแล

          หลังผมลาออกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ได้บอกว่าหาให้ใครมานั่งแทนผู้ว่าฯไปก่อน ทั้งที่แก้กติกามาใหม่กลางเดือนกันยายน  ถ้าผมทำตามก็มีความผิด  และกว่าจะส่งเรื่องมาให้ผู้ว่าฯเดือนพฤศจิกายน 2563 ให้สรรหาภาคประชาชน  20 คน ภาครัฐ  6 คน  ให้ไปตั้งประธานกันเอง   กกพ.ส่วนกลางย้ำว่าแจ้งไปจังหวัดแล้วแต่ไม่ทำ  ส่วนทางฝ่ายภาคประชาชนเขาคัดสรรกันไปหมดแล้ว  ส่วนการสรรหาภาครัฐไปก็ทำได้ยากข้อกำหนดเยอะ   ถามว่าใครจะอยากเป็น  แต่เมื่อให้สรรหาผมก็ประกาศสรรหาออกไป จนได้ตัวแทนภาครัฐมาแล้ว 6 คน และมีตัวแทนผู้ว่าฯ 2 คน ได้ส่งกำนัน อ.เมืองลำปาง และกำนัน อ.แม่ทะไป  ส่วนกลางตีความมาอีกว่าท้องถิ่นนอกจาก อ.แม่เมาะเป็นกรรมการไม่ได้ แต่ตามจริงแล้วเมื่อได้กรรมการเป็นส่วนใหญ่แล้ว ก็สามารถดำเนินการประชุมกันได้  และเป็นอำนาจของ กกพ.ที่จะดำเนินการไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ  นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว   

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์