วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ชาวบ้าน ต.เวียงตาล กว่า 100 คน โวยนายอำเภอห้างฉัตรเลือกปฏิบัติ สั่งระงับโครงการทำถนนในหมู่บ้านเหตุติดพื้นที่ป่า แต่เทศบาลอื่นๆให้ทำได้ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯขอความเป็นธรรม

 



จากกรณีที่ชาวบ้านยางอ้อย หมู่ 11 ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง  ประมาณ 80 คน ออกมารวมตัวกัน และนํากล้าพันธุ์ไม้ มาวางประชดบนถนนในหมู่บ้าน และตะโกนว่าเตรียมย้ายหนีได้แล้ว เพราะบ้านเราเขาไม่ให้อยู่ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ  หลังจากที่เทศบาลตำบลเวียงตาล ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 3 โครงการๆละ 4 แสนกว่าบาท รวม 1.4 ล้านบาท เพื่อทําเป็นถนนแอลฟัลท์ลาดยาง  ในขณะที่ทางเทศบาลเตรียมการจัดจ้าง เพื่อปรับปรุงถนนอยู่นั้นทาง นายนเรศฤทธิ์ อุบลศรี นายอําเภอห้างฉัตร ได้ทําหนังสือแจ้งมาทางเทศบาลตำบลเวียงตาลให้ยุติโครงการเอาไว้ก่อน เนื่องจากถนนหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 54 ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

อ่านข่าววางต้นไม้กลางถนนประชด  https://www.lannapost.net/2021/10/20.html




วันที่ 4 ตุลาคม 64  นายนิวัฒน์ ปะระมา นายกเทศมนตรีตำบลเวียงตาล พร้อมฝ่ายบริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ผู้นำชุมชน พร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากนายอำเภอห้างฉัตรเลือกปฏิบัติ มีการสั่งยุติโครงการเฉพาะในส่วนของเทศบาลตำบลเวียงตาลเท่านั้น แต่เทศบาลอื่นๆอีก 6 แห่งในพื้นที่สามารถดำเนินโครงการได้ 

พร้อมกันนี้ได้นำป้ายข้อความต่างๆ เช่น ชาวเวียงตาลไม่เอานายอำเภอที่เลือกปฏิบัติให้ย้ายออกไป , ชาวอำเภอห้างฉัตรอยากได้นายอำเภอที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข , ท่านเลือกปฏิบัติคนที่เสียผลประโยชน์คือชาวบ้าน เป็นต้น  โดยมีนายจำลักษ์ กันเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายอนวัช สัตตบุศย์ ปลัดจังหวัดลำปาง นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง เข้ารับหนังสือและชี้แจงกับชาวบ้าน




นายนิวัฒน์ ปะระมา นายกเทศมนตรีตำบลเวียงตาล  เปิดเผยว่า  การมายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านตำบลเวียงตาล ในเรื่องที่นายอำเภอห้างฉัตรได้เลือกปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484  ซึ่งเทศบาลได้รับงบประมาณเหลือจ่าย ปี 64 จากกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้แนวปฏิบัติตามคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการบำรุงถนนสาธารณะต่างๆโดยไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้น ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 จะเป็นถนนหนทางที่ชาวบ้านใช้มานานกว่า 50-60 ปี มาแล้ว หมดสิ้นความเป็นป่าไปแล้ว แต่นายอำเภอได้มีคำสั่งให้เทศบาลตำบลเวียงตาล ขออนุญาตก่อน แต่เทศบาลอื่นใกล้เคียงกันอีก 7 แห่งในอำเภอห้างฉัตร ไม่ได้มีการถูกตรวจสอบ เทศบาลที่ได้งบประมาณมาพร้อมกันได้ก่อสร้างกันไปหมดแล้ว แต่เทศบาลตำบลเวียงตาลไม่ให้สร้าง  เมื่อมีโอกาสได้สอบถามนายอำเภอห้างฉัตร ก็บอกว่าเทศบาลอื่นไม่ได้ติดพื้นที่ป่า ซึ่งไมได้ทำการตรวจสอบจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แต่ดูจากเว็บไซด์กูเกิลเท่านั้น   อยากจะขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะโครงการต่างๆ เป็นความต้องการของชาวบ้าน



         โครงการที่มีปัญหามีอยู่ 3 โครงการ งบประมาณอยู่ที่ 1.4 ล้านบาท แต่เมื่อนายอำเภอสั่งมาเช่นนี้แล้วโครงการทั้งหมดในเทศบัญญัติของตำบลเวียงตาลจะไม่สามารถทำได้เลย จะต้องขออนุญาตทั้งหมด ทั้งที่นายอำเภอก็เพิ่งได้ตรวจเทศบัญญัติไป  ถ้าหากมีนโยบายกำชับการใช้พื้นที่ป่าจะต้องทำเป็นภาพรวมอำเภอทั้งหมด ไม่ใช่มาเจาะจงที่ตำบลเวียงตาลที่เดียว

         นายกเทศมนตรีตำบลเวียงตาล กล่าวอีกว่า ถ้าไม่ได้ใช้งบประมาณตรงนี้งบก็มีโอกาสถูกดึงกลับไป ชาวบ้านก็จะเสียโอกาสตรงนี้ แทนที่จะได้มีถนนที่ดี ได้งบจัดสรรจากรัฐบาล งบในเทศบัญญัติมีน้อย หมู่บ้านหนึ่งได้เพียง 6-7 แสนบาท ซึ่งในปีนี้เทศบาลได้งบอุดหนุนจากรัฐบาลมา 20 กว่าล้านบาท  ตอนนี้กลายเป็นว่าทุกถนนทุกซอยในพื้นที่ตำบลเวียงตาลเป็นป่าทั้งหมด หากนายอำเภอใช้ดุลพินิจแบบนี้เป็นการไม่เท่าเทียม และเป็นการปฏิบัติไม่เสมอภาค




         ด้านนายจำลักษ์ กันเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  ป่า 2484 ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ไม่มีคนครอบครอง รวมทั้งถนนหนทางต่างๆก็ตีความว่าเป็นป่า แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีมานานแล้ว จังหวัดลำปางก็เคยมีกรณีเช่นนี้ที่ ต.บ้านเอื้อม เป็นการขุดคลองในพื้นที่ป่า แต่เป็นการพัฒนาอำนวยความสะดวกให้ประชาชน กฤษฎีกาตีความออกมาว่า ในเมื่อไม่มีสภาพเป็นป่าอยู่แล้วก็เข้าดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายก็ต้องแจ้งให้มีการปรับปรุงกฎหมายเสียก่อน  ข้อเท็จจริงก็เห็นจากภาพถ่ายแล้วว่าสภาพไม่มีความเป็นป่า ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว แต่การบังคับกฎหมายกับข้อเท็จจริงต่างกัน  ต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเหล่านี้จะให้ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดรับเรื่อง และตรวจสอบอย่างละเอียดให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์