วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ผู้ว่าฯหนุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะชาวบ้านค้าน


ผู้ว่าฯออกตัวหนุนโรงไฟฟ้าขยะ พลังงานทดแทน  เชื่อปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาแล้วมีความน่าเชื่อถือ ควรส่งเสริม ด้านพลังงานจังหวัดเผยบริษัทเดิมยกธงขาว หลังเจอกระแสมวลชนแรง  ส่วนบริษัทใหม่อาจกำลังเล็งหาพื้นที่ ส่วนนายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร ระบุบริษัทที่เคยติดต่อมาเงียบหายไป  กระแสชาวบ้านในพื้นที่ไม่เอา

จากกรณีพื้นที่ จ.ลำปางมีบริษัทเอกชนเข้ามาสนใจลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะในหลายอำเภอ ล่าสุดได้มีบริษัทพลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด เข้ามาติดต่อเทศบาลตำบลปงยางคก เนื่องจากสนใจพื้นที่บ้านปงใต้ หมู่ 7 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะ  โดยได้มีการประชุมชาวบ้านไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา  ซึ่งในเรื่องดังกล่าวในการประชุมแถลงข่าวผู้ว่าฯพบสื่อมวลชน ได้มีการบรรจุลงในวาระการประชุม แต่เมื่อถึงวันแถลงข่าวกลับไม่มีการพูดคุยในวาระดังกล่าวแต่อย่างใด

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  โรงไฟฟ้าขยะตอนนี้ยังไม่เกิด แต่มีโรงงานทำถ่านอัดแท่งที่ ต.บ้านเป้า ที่คนจีนมาลงทุน เพื่อลดการเผาเศษวัสดุ  แต่การเอาขยะมาทำไฟฟ้า เป็นการเอาขยะมาทำเป็นเงิน ปัจจุบันนี้ขยะมีค่าเปลี่ยนเป็นเงินได้ เป็นเรื่องที่ดีที่มีพลังงานทางเลือก และช่วยการกำจัดขยะ สมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามามาก มีระบบตรวจสอบการปล่อยสารพิษ เป็นระบบที่น่าเชื่อถือ  ถ้าสามารถทำอย่างมีมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา ควรส่งเสริมให้มาทำในเรื่องนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวอีกว่า  สิ่งหนึ่งที่อยากจะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน คือ พวกเศษวัสดุที่เหลือใช้  ซังข้าวโพด ก็ถือว่าเป็นเงินเป็นทอง มีหลายบริษัทรับซื้อ ไม่ว่าจะเป็น SCG สหพัฒน์ฯ จ.ลำพูน ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง  อยากจะส่งเสริมผู้ประกอบการให้ตั้งจุดรับซื้อเศษวัสดุต่างๆ  อีกส่วนหนึ่งมีนักลงทุนจากประเทศจีนมาทำโรงงานถ่านอัดแท่งขาย จากเศษวัสดุเหลือใช้ จะช่วยลดปัญหาการเผาและยังลดหมอกควันที่ จ.ลำปางได้  นอกจากนั้นได้มีการวางแผนร่วมกับประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นการปลูกไผ่ เพื่อสร้างรายได้ ไร่หนึ่งได้ราคาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท  ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่ควรสนับสนุน
           
นางสายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้าขยะตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพียงการพูดคุยหรือถามต่อกันไปจึงทำให้เกิดกระแสว่าจะมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่ ทางบริษัทเอกชนเองก็อาจจะเข้ามาดูลู่ทางในท้องถิ่นแต่ละแห่งว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการยื่นเรื่องต่างๆมีขั้นตอนมากมาย  สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานสนับสนุนอยู่แล้วที่จะให้ทำพลังงานทดแทน และอยู่ในแผนพัฒนาซึ่งจะไปต่อยอดกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมีนโยบายให้เอกชนเข้ามาลงทน  ในส่วนของพลังงานจังหวัดเองก็จะเป็นตัวประสานงานให้ข้อมูลให้ความรู้กับประชาชน  บางครั้งการที่เอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ก็ไม่ได้แจ้งให้จังหวัดทราบเสมอไป  แต่เขาไปประสานงานโดยตรงกับกรมกิจการพลังงาน อุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการทำถูกต้องตามขั้นตอน ชาวบ้านก็กลัวว่าจะมีการลักลอบเข้ามาตั้งในพื้นที่ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้แน่นอน
           
ในส่วนของบริษัทเดิมที่จะมาตั้งที่ป่าเหียงนั้น ตอนนี้ได้ยกเลิกโครงการไปแล้ว เนื่องจากกระแสการต่อต้านในพื้นที่แรง และไม่สามารถสร้างได้ด้วยเพราะบ้านป่าเหียงเป็นพื้นที่สีชมพู  แต่กรณีที่จะมีบริษัทเอกชนเข้ามาติดต่อกับท้องถิ่นในพื้นที่ ก็ไม่สามารถไปห้ามได้ เพราะนโยบายรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่  พลังงานจังหวัดกล่าว
           
ด้านนายย้าย ฮาวคำฟู  นายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทพลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด ได้เข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านในการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ติดต่อเข้ามาอีกเลย ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านทราบบ้างแล้ว และชาวบ้านก็คัดค้านหากมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาตั้งในพื้นที่
           
นางอนงค์  ราษฎร ต.ปงยางคก  อ.ห้างฉัตร  กล่าวว่า ตนเองยังไม่ทราบเรื่องว่าจะมีโรงไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่  แต่หากว่ามีการเข้ามาจริงก็ไม่ต้องการ เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่างๆ  อีกอย่างคือในหมู่บ้านก็ไม่ได้มีขยะล้นมากมายที่จะโรงไฟฟ้าจะเข้ามาตั้งได้  หากเกิดผลกระทบขึ้นกับชาวบ้านในภายหลังแล้วใครจะรับผิดชอบ กันไว้ดีกว่าแก้ไขไม่ได้
           
น.ส.เกศศินี  ราษฎร ต.แม่สัน อ.ห้างฉัตร  กล่าวว่า  ได้ยินเรื่องโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งแต่ที่จะมาตั้งพื้นที่บ้านป่าเหียง ซึ่งมีชาวบ้านออกมาต่อต้าน โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว เห็นว่าการนำขยะมาทำเป็นพลังงานทดแทนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การจะเข้ามาตั้งในพื้นที่ก็ต้องถามชาวบ้านก่อน และควรตั้งในจุดที่ห่างไกลจากชุมชนมากๆ  ถ้ามาตั้งจริงก็คงไม่ต้องการ เพราะทั้งกลิ่น ทั้งเสียง อะไรต่างๆ ไม่ใช่ว่าอยู่คนละหมู่บ้านแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบ  ผู้ที่จะเข้ามาตั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชาวบ้านด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

ครั้งแรก'แอมเนสตี้'รางวัลสิทธิมนุษยชน


แอมเนสตี้ฯมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ลานนาโพสต์คว้าดีเด่น ผลงาน “สิทธิชุมชนคนแม่เมาะ” ปลื้มรางวัลแรกของปี 59

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 เวลา 13.30  น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบ "รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 255 ณ Rooftop Garden @ The Hive Bangkok Coworking Space  ซึ่งหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดด้วย ในประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ข่าวชุด “สิทธิชุมชนคนแม่เมาะ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด”   และได้ผ่านเข้ารอบชิงรางวัล ร่วมกับ หนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์ ข่าว พลังมวลชน ต้าน! โรงไฟฟ้าชีวมวล” 

สำหรับกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพราะเล็งเห็นว่าสื่อมวลชนเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่อง สื่อทำหน้าที่เป็นครูที่ดีในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้สื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาหัวข้อ สื่อคือแสงสว่างในความมืด?” โดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)   น.ส.ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และเคยได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย

ส่วนผลการตัดสิน ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ข่าวชุด สิทธิชุมชนคนแม่เมาะ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด”    และหนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์ ได้รับรางวัลชมเชย

รางวัลอื่นๆ ประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  ได้แก่   บทความ "หมอชายแดน แสงสุดท้ายคนชายขอบ" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ   และบทความ "Military mind games out under strict insecurity" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  ได้รับรางวัลดีเด่นทั้ง 2 ผลงาน

ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์    ผู้ได้รับรางวัลดีเด่น คือ  ข่าวชุด เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์    และรางวัลชมเชย 2 รางวัล  คือ ข่าวชุด เพราะประวัติศาสตร์ "ปาตานียุคใหม่" เริ่มต้นที่นี่ จึงต้องบูรณะบ้าน-สุเหร่า "หะยีหลง โต๊ะมีนา” เว็บไซด์ Deep South  Watch  และ ข่าวชุด เอดส์...ที่ยืนของคนชายขอบ” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์  

ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล  รางวัลดีเด่น คือ  ข่าวชุด "เรือมนุษย์โรฮิงญา” สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  และรางวัลชมเชย รางวัล  คือ   สารคดีเชิงข่าว สิทธิใต้บงการ เสรีภาพใต้ความกลัว” สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี  , สารคดีเชิงข่าวชุด "ผลกระทบเหมืองทองคำ" สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส   , ข่าวชุด "ปฏิบัติการกำจัดชาติพันธุ์โรฮิงญา” สถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนแนล , สารคดีเชิงข่าว "เหยื่อคดีอาญา" สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE   และ สารคดีเชิง

ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลท้องถิ่น   ได้รับรางวัลชมเชย  สารคดีเชิงข่าว แสงสว่างในเงามืด” สถานีโทรทัศน์เสียงไทยแลนด์เคเบิลทีวี

น.ส.ภูษณิศา สัญญารักษกุล  บรรณาธิการข่าว นสพ.ลานนาโพสต์ เปิดเผยว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลแรกของปี 59 ซึ่งที่ผ่านมาลานนาโพสต์ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ปีซ้อน  และยังมีรางวัลบทนำอีก 2 รางวัล  ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานลานนาโพสต์ภาคภูมิใจ  แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเป็นกำลังใจให้ทีมงานได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงต่อไป

สำหรับผลงาน “สิทธิชุมชนคนแม่เมาะ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด” เป็นผลงานชิ้นแรกที่ลานนาโพสต์ส่งเข้าชิงรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ แอมเนสตี้  โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้รับรางวัล แต่ปรากฏว่าเราได้รับรางวัลดีเด่น ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 4 ปี  ไม่เคยมีสื่อท้องถิ่นได้รับรางวัลดีเด่นเลย กระทั่งมาในปีนี้ รู้สึกดีใจที่ผลงานของเรารับคัดเลือก ซึ่งผู้ตัดสินแต่ละท่านถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อระดับประเทศ ทำให้เชื่อได้ว่าข่าวที่ลานนาโพสต์นำเสนอเป็นข่าวที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน  พร้อมกันนี้ขอขอบคุณแหล่งข่าวทุกท่าน ผู้ให้การสนับสนุนลานนาโพสต์ด้วยดีตลอดมา เราพร้อมที่จะพัฒนาและนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

แม่แจ๋มยะเยือก ลด4องศาเด็กห่มผ้าเรียน


ดอยแม่แจ๋ม อ.เมืองปาน  อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 4 องศา จากปกติ 6 องศา เด็กขาดเรียนเพียบ ครูต้องแจกผ้าห่มให้นั่งเรียนหนังสือทุกห้อง  ขณะที่ปภ.เขต 10 ลำปางเตรียมมาตรการการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยหนาว พร้อมสนับสนุนเครื่องนุ่งห่มช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่หากท้องถิ่นรับมือไม่ไหว

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนยอดดอยสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งตั้งแต่1,200 เมตร ขึ้นไป คือที่ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม  หมู่ 1  และชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง หมู่ 7 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านแห่งนี้จะอยู่บนยอดยอดสูง และที่ผ่านมาเคยมีปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งช่วง 2 วันที่ผ่านมา สภาพอากาศที่แปรปรวนอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแจ้งประสานงานจาก นางวาลินี ทองหล่อ ครูประจำโรงเรียนบ้านแม่แจ๋ม ว่าตั้งแต่เมื่อวานที่ 25 ม.ค. 59 อุณหภูมิ ที่โรงเรียนบ้านแม่แจ๋มช่วง 14.00 น.เป็นต้นมา อยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าในพื้นที่ปิด มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพอากาศทั่วไปหนาวเย็น และเช้าวันที่ 26 ม.ค.59 อุณหภูมิอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่มีน้ำค้างแข็ง เพราะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง 
     
นายวิภพ ไชยธรรม ผอ.โรงเรียนบ้านแม่แจ๋ม เปิดเผยว่า  เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา อากาศหนาวเย็นมาก และมีฝนตกต่อเนื่อง ซึ่งฝนที่ตกลงมาทำให้เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างไม่สามารถใช้การได้ เพราะถนนเละจากการถมดินใหม่ ประกอบกับอากาศหนาวลดลงเหลือ 4 องศาเซลเซียส จากช่วงฤดูหนาวปกติจะอยู่ที่ 6 องศาเซลเซียส ทำให้มีเด็กนักเรียนมาโรงเรียนแม่แจ๋มเพียง 17 คน จาก 108 คน  ทางโรงเรียนได้แจกจ่ายผ้าห่มให้กับนักเรียนขณะที่นั่งเรียนหนังสือด้วย เพราะอากาศหนาวเย็นมาก  โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.59 ที่ผ่านมา  นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้นำผ้าห่มกันหนาวไปมอบให้ความช่วยเหลือแล้ว  แต่หลังจากที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บนดอยแม่แจ๋มก็ยังคงหนาวอยู่ โดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ 6-9 องศาเซลเซียส เพราะเป็นดอยสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร  จึงต้องเฝ้าระวังดูแลในเรื่องสุขภาพของนักเรียนเป็นพิเศษด้วย

นายคมสัน  สุวรรณอัมพา ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง
เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นทางด้านกระทรวงมหาดไทย ได้มีการสั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและ ศูนย์ ปภ.ทุกเขต มีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เตรียมการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยหนาว บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศ วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องกันหนาวอื่นๆสนับสนุนจังหวัดในเขตรับผิดชอบหากสถานการณ์รุนแรง ที่ทางท้องถิ่นหรือจังหวัดในเขตรับผิดชอบ รับมือไม่ไหวและร้องขอเข้ามายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือศูนย์ ปภ.เขต แต่ละแห่ง  สามารถนำไปแจกจ่ายและช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ทันที โดยไม่ต้องรอประกาศเขตภัยพิบัติ


นอกจากนี้ สภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันและเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้พี่น้องประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย และขอเตือนด้วยว่า ประชาชนหลายๆที่ชอบดื่มเหล้า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะคิดว่าสามารถคลายหนาวได้ เป็นความเชื่อที่ผิดเพราะที่ผ่านมาสถิติผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการดื่มสุรา เพราะเวลาเมาสุรานอนหลับไปแล้ว ไม่เลือกที่นอน บางครั้งนอนที่โล่งกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็น และไม่ห่มผ้า ทำให้เกิดเสียชีวิตทุกปีอย่างต่อเนื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

สั่งชุด ททท. ลุยจัดทางเท้า


เทศบาลแก้ไม่ได้ ร้องถึงผู้ว่าฯส่งชุด ททท.จัดระเบียบทางเท้า ตกลงคนละครึ่งทางให้วางขายได้แต่ต้องเว้นช่องทางเดิน 80 ซ.ม. 

ปัญหาการวางขายของบนฟุตบาททางเท้า เป็นปัญหายาวนานที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทางเทศบาลนครลำปาง โดยนายพิชิต โมกศรี ปลัดเทศบาลนครลำปาง ได้รับมอบหมายจากนายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาเทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการสำรวจปัญหาร่วมกับ ตำรวจ และทหารในพื้นที่แล้วพบว่า ตลาดในพื้นที่เทศบาลนครลำปางที่พบปัญหาการขายของบนฟุตบาททางเท้า จำนวน 3 แห่ง คือ ตลาดสนามบิน ตลาดโชคชัย (ถนนสุเรนทร์) และตลาดหลักเมือง รวมไปถึงการขายของบนฟุตบาท ถนนพหลโยธิน (ข้างเรือนจำ) เขื่อนยาง (ฝั่งโรงเรียนเคนเน็ตแม็ตแคนซี) และบริเวณหน้า โรงเรียนบุญวาทย์ โรงเรียนลำปางกัลยาณี และโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง

แนวทางในการแก้ไขปัญหาการขายของบนถนนและทางเท้าที่ทางเทศบาลดำเนินการ มี 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ได้แก่ การกำหนดพื้นที่เป็นพื้นที่ผ่อนผันให้จำหน่าย/ขายของบนทางเท้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกำหนดพื้นที่ผ่อนผันให้ความเห็นชอบ และประกาศบังคับใช้ต่อไป ส่วนแนวทางที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ที่ไม่สามารถที่จะผ่อนผันได้เป็นพื้นที่ที่ต้องจัดระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ตลาดสนามบิน เทศบาลนครลำปาง ได้ดำเนินงานร่วมกับ ตำรวจ และทหาร ในการจัดระเบียบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังของเทศกิจ และป้องกันไม่ให้กลับมาขายซ้ำอีก ส่วนปัญหาตลาดหลักเมือง(หน้าธนาคารออมสิน) เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาต้องกระทำร่วมกันหลายฝ่าย และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยหลีกเลี่ยงมิให้กระทบกับพ่อค้า แม่ค้า หรือให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ การจัดระเบียบบนทางเท้า หรือ การวางสิ่งของบนทางเท้าในเขตเทศบาลนครลำปางนั้น เทศบาลนครลำปาง ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ให้ความสำคัญในการแห้ไขปัญหาเป็นลำดับต้น ๆ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกัน ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และประชาชนทั่วไป ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองตลอดไป

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดระเบียบทางเท้า เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเทศบาลนครลำปาง เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบได้โดยง่าย จังหวัดลำปางจึงมีแนวทางที่จะส่งชุด ททท. (ทำทันที) ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับทหาร ตำรวจ และเทศบาลนครลำปาง เพื่อคืนพื้นที่ให้กับประชาชน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อเพราะเหตุใดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่สามารถทำได้ จึงต้องให้หน่วยงานชุดอื่นเข้าไปดำเนินการ  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  เรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบของชาวบ้าน ก็อาจจะไปกระทบกับฐานเสียงของนักการเมืองได้ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่ได้ดำเนินการเต็มที่ ต้องมีการอลุ่มอล่วยกันไป  ซึ่งทางผู้ว่าฯจะส่งชุด ททท.ไปตรวจสอบเร็วที่สุด


ต่อมาวันที่ 27 ม.ค.59  ชุดททท.ลำปางได้ลงพื้นที่กรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการตั้งสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะ ร่วมกับอำเภอเมืองลำปาง จนท.ทหาร.มทบ.32 และจนท.เทศกิจ เทศบาลนครลำปางได้เข้าตรวจสอบ  บริเวณทางเดินเท้าหน้าร้านเบตงมินิมาร์ท คณะเจ้าหน้าที่จึงแจ้งกับผู้ดูแลห้ามตั้งสินค้าขายบนทางสาธารณะ โดยให้ขนย้ายสินค้าเข้าไปขายภายในร้านโดยทันที และกรณีการติดตั้งเสาค้ำยันหลังคากีดขวางทางสาธารณะ จนท.ทำบันทึกให้ทำการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 7วัน ซึ่งทางร้านฯยินยอมปฏิบัติตาม และจุดที่สอง บริเวณทางเดินเท้าถนนเส้นห้างเสรีสรรพสินค้า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตผ่อนผัน โดยคณะเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเห็นพ้องยินยอมให้ร้านขายของขายของต่อไป แต่ให้เว้นพื้นที่สำหรับใช้เป็นทางเดินประมาณ80ซม. โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้เดินแจ้งประชาสัมพันธ์กับทุกร้านค้า ทางร้านค้ายินดีและยินยอมขยับพื้นที่ตามที่ จนท.แจ้ง โดยมีบางร้านที่มีวัตถุสิ่งของรุกล้ำออกมา ทางร้านก็ยินยอมรื้อบางส่วนออกไปเพื่อให้มีทางเดินเท้า80ซม. 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

อดีตผู้สมัคร สว. เก๋งพลิกคว่ำเจ็บหนักดับรพ.


ผอ.โรงเรียนแม่กวัก อ.งาว รถคว่ำไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลพะเยา

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.59 เวลา 10.40.น ร.ต.ท.สิทธิโชค บัวแดง พงส.สภ.งาว จ.ลำปาง รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถยนต์เก๋งพลิกคว่ำที่บริเวณถนนพหลโยธินสายงาว-พะเยา เขตบ้านปงใต้ ม.5 ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง จึงออกไปทำการสอบสวน ในที่เกิดเหตุพบรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ ฮอนด้าซิตี้ สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน ษอ 1431 กทม. จอดอยู่กลางถนนฝั่งขาขึ้นไป ทาง จ.พะเยา สภาพรถพังเสียหายหลังคายุบบริเวณโดยรอบมีเศษกระจกและอุปกรณ์รถแตกเสียหายกระจายเกลื่อนพื้นถนน ส่วนคนเจ็บทราบว่ามี 1 ราย และมีพลเมืองดีช่วยนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลงาวแล้ว พนักงานสอบสวนจึงรุดไปตรวจสอบ ทราบว่าคนเจ็บชื่อนายฐปน จิตรรักชาติ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 100 ม.5 ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง มีตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านแม่กวัก ม.1 ต.บ้านอ้อน อ.งาว ได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส ปอดแตกทั้งสองข้างและมีเลือดคั่งในกะโหลกศรีษะ แพทย์ต้องรีบส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลพะเยา-ราม เป็นการด่วน เนื่องจากมีเครื่องมีแพทย์ครบและทันสมัยกว่า

จากการสอบตรวจสอบในที่เกิดเหตุโดยละเอียดแล้ว จึงทราบว่าก่อนเกิดเหตุ นายฐปน กำลังขับรถคันเกิดเหตุมุ่งหน้ามายัง อ.งาว เพื่อจะมาทำธุระและโดยไม่ทราบสาเหตุรถที่ขับขี่มาได้พุ่งลงไปในร่องน้ำกลางถนนแล้วพุ่งขึ้นจากร่องน้ำไปตกลงบนถนนอีกฝากหนึ่ง ก่อนจะพลิกหลายตลบจนตัวของ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่กวักกระเด็นออกมานอนแน่นิ่งอยู่กลางถนน เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้สันนิษฐานว่าผู้ขับขี่อาจจะเกิดอาการหลับในก็เป็นได้และรถต้องขับขี่มาด้วยความเร็วสูง เนื่องจากตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วไม่พบว่ามีร่องรอยของการเบรคแต่อย่างใด ซึ่งทาง ร.ต.ท.สิทธิโชค บัวแดง พงส.สภ.งาว ได้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ ปลายปี 2558 นายฐปน ก็เคยขับขี่รถยนต์เก๋ง ซีอาร์วี มาประสบอุบัติเหตุในลักษณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่งและจุดเกิดเหตุก็อยู่ไม่ไกลจากจุดนี้มากนัก แต่ครั้งนั้นเจ้าตัวไม่ได้รับบาดเจ็บมากนักและจนถึงขณะนี้รถยนต์เก๋งก็ยังซ่อมไม่เสร็จ จนกระทั้งมาประสบอุบัติเหตุขึ้นอีกครั้งในวันนี้

และล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันเดียวกันทางพนักงานสอบสวน ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลพะเยา-ราม ว่า นายฐปนได้เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว


สำหรับนายฐปน จิตรรักชาติ  เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา จ.ลำปาง เมื่อปี 2549   และมีแผนที่จะลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขต อ.งาว ในครั้งต่อไปด้วย แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

ด.ต.เครียดหนักผูกคอตายหาทางออก


ดาบตำรวจตำแหน่ง ผบ.หมู่งานจราจร ใช้โซ่ผูกคอตายข้างกรงสุนัข คาดเครียดจากปัญหาส่วนตัว

เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น.วันที่ 22 ม.ค. 59   ศูนย์วิทยุตำรวจภูธร 191  ได้รับแจ้งเหตุว่ามีคนผูกคอตายที่บ้านเลขที่ 85  ซอย 7/11  ภายในหมู่บ้านพรประสิทธิ์  หมู่ 17 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง  หลังรับแจ้งจึงประสาน ร.ต.อ.จักรตุลย์ ทองกิ่ง  ร้อยเวรสอบสวน สภ.เมืองลำปาง พร้อมด้วยแพทย์เวรโรงพยาบาลลำปาง  ร่วมชันสูตรพลิกศพ

จากนั้น ร.ต.อ.จักรตุลย์ ทองกิ่ง   ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุร่วมกับ พ.ต.อ.นิคม เครือนพรัตน์  ผกก.สภ.เมืองลำปาง  พ.ต.อ.ยงยุทธ ดาวรี  พงส.ผทค.สภ.เมืองลำปาง   ที่เกิดเหตุเป็นทาวเฮ้าส์ชั้นเดียว  ซึ่งบริเวณคอกเลี้ยงสุนัขข้างบน พบศพ ด.ต.พิทักษ์ ต้นชินดา อายุ 45 ปี  ตำแหน่ง ผบ.หมู่งานจราจร  สภ.เมืองลำปาง   ใช้โซ่จูงสุนัขผูกคอตัวเองติดกับคานไม้ของคอกสุนัข  ในสภาพสวมชุดกีฬา สวมหมวกแก๊ปสีดำของตำรวจ  ส่วนในคอกสุนัขมีสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนมานั่งคลอเคลียอยู่ตรงมือของผู้ตายไม่ห่าง

จากการสอบสวน น.ส.ปิ่นมณี ต้นชินดา อายุ 21 ปี  ลูกสาวของผู้ตาย  ให้การว่า ในช่วงเช้า ด.ต.พิทักษ์ จะไปวิ่งออกกำลังกายทุกวัน โดยจะออกจากบ้านตั้งแต่ตี 5 ไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะกลับมาอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน  แต่วันนี้ขณะที่ตนกำลังจะออกบ้านพบว่ารถของพ่อยังจอดอยู่ เลยแปลกใจ จึงออกเดินตามหากระทั่งพบว่าใช้โซ่ผูกคอตายกับคอกสุนัขข้างบ้าน จึงแจ้งตำรวจทราบ


ในเบื้องต้น พบว่าจากประวัติแล้ว ด.ต.พิทักษ์เป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาด้านการงาน   เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า ด.ต.พิทักษ์ อาจจะมีปัญหาส่วนตัวที่แก้ไม่ตกและไม่สามารถบอกใครได้ จึงได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพื่อหาทางออกดังกล่าว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

รปภ.ดวงดับขับรถขึ้นเนินชนท้ายบรรทุก


รปภ.บริษัทเอกชน ขับกระบะชนท้ายรถบรรทุกปูน หัวฟาดพวงมาลัยคอหัก ดับคาที่

เมื่อเวลาประมาณ 15.50 น.วันที่ 26 ม.ค.59  ศูนย์วิทยุภูธร จ.ลำปาง ได้รับแจ้งว่า  เกิดอุบัติเหตุรถชนบริเวณเนินกิ่วพระเจ้า ขาเข้า อ.แม่เมาะ ถนนวชิราวุธดำเนิน ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง  มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หลังรับแจ้งจึงประสาน  พ.ต.ท.สมควร เกตุเทศ พนักงานสอบสวนเวร สภ.เมืองลำปาง  น.พ.กำพล เครือคำขาว แพทย์เวร รพ.ลำปาง  และเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยร่วมตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบรถกระบะยี่ห้ออิซูซุ แค๊ป สีเขียว หมายเลขทะเบียน  บม 9364 ลำปาง  สภาพรถด้านหน้าพังยับ ห้องเครื่องยุบเข้ามาถึงพวงมาลัยรถ  บริเวณที่นั่งคนขับพบชายอาการสาหัส เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ช่วยกันนำตัวออกมาจากรถ และพยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิต แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงเสียชีวิตในที่สุด ทราบชื่อต่อมาคือ นายอนุสิทธิ์ ลับแลใจ อายุ  44 ปี  บ้านเลขที่ 110/2 หมู่ บ้านแม่ทะ ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ  จ.ลำปาง   ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัท เชียงใหม่ ธรี เซอร์วิส จำกัด  สภาพศพคอหัก ศีรษะบริเวณหน้าผากแตกเป็นทางยาว คาดว่าเกิดจากถูกกระแทกอย่างแรง 

ส่วนคู่กรณีเป็นรถพ่วงบรรทุกปูนยี่ห้ออิซูซุสีขาว ของ บริษัท เอกรัฐโปรดักส์ หัวพ่วงทะเบียน 60-3089 กรุงเทพฯ  พ่วงท้ายทะเบียน 60-3088 กรุงเทพฯ  จอดอยู่ห่างไป เมตร บริเวณพ่วงท้ายฝั่งซ้ายมีร่องรอยถูกชนจนยุบ ล้อหลังคด  โดยมีนายประจวบ พันธ์สายออ อายุ 53 ปี  อยู่บ้านเลขที่  254 หมู่ ต.ละหาน อ.จตุรัส  จ.ชัยภูมิ  เป็นคนขับรถ  

นายประจวบ ให้การว่า ตนเองได้ขับรถไปรับปูนจากบริษัทปูนซิเมนต์ ที่ อ.แจ้ห่ม เพื่อจะนำไปส่งที่ประเทศลาว จากนั้นได้ขับรถมาตามเส้นทางดังกล่าว กระทั่งช่วงที่ขับขึ้นเนิน ซึ่งตนไม่ได้ขับรถเร็วเพราะบรรทุกหนักมา  อยู่ๆก็ได้ยินเสียงดังสนั่นและรถถูกกระแทกพุ่งไปด้านหน้า  จึงจอดรถวิ่งลงมาดู ก็พบรถกระบะมาชนท้ายสภาพพังเสียหายยับเยิน คนขับรถบาดเจ็บอยู่ตรงที่นั่งคนขับ จึงรีบโทรแจ้งตำรวจ เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาถึงได้ช่วยกันนำตัวออกจากรถมาปั๊มหัวใจ แต่ก็ช่วยเหลือไว้ไม่ได้  ตนเองจึงรอให้การกับเจ้าหน้าที่

เบื้องต้น สันนิษฐานว่า นายอนุสิทธิ์ ผู้เสียชีวิต  รีบออกจากบ้านเพื่อจะมาเข้าเวรทำงานรักษาความปลอดภัย และด้วยความรีบจึงได้ขับรถมาด้วยความเร็ว ระหว่างขึ้นเนินโดยมีรถบรรทุกปูนอยู่ด้านหน้าจึงเบรคไม่ทัน ทำให้ชนท้ายเข้าอย่างจัง จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในครั้งนี้  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆอีกครั้ง 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1064 วันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

เสี่ยงเพื่อสวย ??


แม้จะมีความเสี่ยงกับการได้มาซึ่ง “ยาวิเศษ” ที่สามารถเสกเป่าให้สวย ขึ้นอย่างฉับพลันทันใจ แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า หากจะทำให้พ้นภาวะ “ขึ้นคาน” ไปได้ โดยเฉพาะถ้าอกแบน แฟนทิ้ง แล้วกลับขาว หมวย สวย อี๋ม ขึ้นมา จนถึงขนาด สวยเลือกได้

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ดูเหมือนว่า ขาว หมวย สวย อึ๋ม ก็ยังเป็นพิมพ์นิยมที่ผู้ชายไทยส่วนใหญ่บอกว่าสเปคในฝัน แล้วหญิงไทยที่ผิวสีน้ำผึ้ง ผิวเข้มค่อนไปทางดำ อวบอ้วน ดั้งแบน ไม่มีอกตู้ม จะมีที่ยืนอยู่ตรงไหนบนแผ่นดินไทย ยิ่งอัตราส่วนของผู้ชายที่มีจำนวนมากกว่าผู้หญิงแล้วด้วย ทำให้อัตราการไร้คู่ เป็นโสดขึ้นคาน(ทอง) ที่หญิงสาวหลายคนดิ้นรนไม่อยากเสวยสุขอยู่บนคานจึงต้องหาทุกวิธีทางเพื่อเป็นพิมพ์นิยม เรียกชายหนุ่มให้มาหลงใหล

มีคำกล่าวที่ว่า ผู้หญิงทำทุกอย่างให้ผอมสวยได้ยกเว้นการออกกำลังกาย เพราะการลดน้ำหนักต้องใช้เวลาและความมีระเบียบวินัยในตัวเองสูงมาก เมื่อรู้ดังนั้น เมื่อมีความต้องการของตลาด จึงมีผู้ผลิตสินค้าพวก อาหารเสริม ลดน้ำหนัก เพิ่มอกอึ๋ม ขาวใสวิ้งๆ แม้กระทั่งผลิตเพื่ออ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศ หรือแม้แต่ยาครอบจักรวาลที่รักษาได้สารพัดโลก

เรื่องยาลดน้ำหนัก หรือกินกลูต้า ฉีดกลูต้าเข้าเส้น ฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม เสริมจมูก ทำนมอึ๋ม กาแฟเสริมสารวิเศษเพิ่มความคึกคักทั้งคืน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มีข่าวนับครั้งไม่ถ้วนที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้คร่าชีวิตคนที่อยากสวยทางลัด หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นโรคร้าย หมดกำลังใจในการรักษา แต่เห็นผลิตภัณฑ์ที่บอกว่ารักษาได้ หลายคนใช้แล้วอาการดีขึ้น โดยที่อาหารเสริมเหล่านั้นหาที่มาที่ไปไม่ได้ ส่วนผสมก็ไม่ได้บอกว่ามีตัวยาอะไรบ้าง จนหลายครั้งไตวาย ตับพัง แต่ก็กำจัดไม่หมด ผู้บริโภคเองก็ไม่ได้สนใจที่จะตามข่าวพวกนี้ให้ทัน จนกลายเป็น เหยื่อ ในที่สุด

ที่ผ่านมาอินเตอร์เนตมีก็จริงแต่การสั่งของออนไลน์ยังไม่เฟื่องฟูขนาดนี้ แต่พอสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊ค อินสตราแกรมฮิต มีร้านค้าออนไลน์ให้สั่งซื้อของได้ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส จะช๊อปปิ้งเวลาไหนได้หมด อยากทราบรายละเอียดเพิ่งเติมก็ส่งข้อความไปจะในเฟสบุ๊คหรือในไลน์ก็เลือกตามใจชอบ พอตกลงสั่งของซื้อขายเสร็จก็ไปโอนเงินทางตู้เอทีเอ็ม ทางแอพลิเคชันในมือถือ หรือทางเว็บไซด์ของธนาคาร  จากนั้นก็นั่งรอบุรุษไปรษณีย์นำของมาส่งถึงหน้าประตูบ้าน

สมัยก่อน สินค้าเหล่านี้ต้องวางขายหน้าร้าน ตามแผงตลาดนัด ตามร้านขายยา ร้านผลิตภัณฑ์เสริมความงาม คนซื้อต้องเดินไปหาตามร้านที่วางขาย นานๆทีสาธารณสุขจังหวัดจะได้ฤกษ์ออกตรวจสุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจ กว่าจะส่งผลตรวจ กว่าจะประกาศว่าอันตราย ห้ามใช้ ห้ามขาย คนขายก็รวยไปรายหลาย คนกินก็ไตพิการหน้าพังไปก็เยอะ แต่เดียวนี้สินค้ามายั่วกิเลสถึงหน้าจอคอม ปรากฏข้อความเย้ายวนทางสม์ทโฟน ยิ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักสมัยนี้ไม่ใช้กินแล้วผอมอย่างเดียว เสริมทัพด้วยความขาว เรียกว่าเม็ดเดียวเอาอยู่ ด้วยข้อความที่เชิญชวน

เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การสร้างข้อมูลให้ดูน่าเชื่อถือ มีหน้าม้ามายกยอปอปั้นเป็นขบวนผ่านหน้าเฟสบุ๊ค แต่การไล่ล่าตามจับดูจะยังคงใช้วิธีเดิมๆ เพราะทุกวันนี้ที่วางขายตามร้าน จับต้องได้หลักฐานเห็นคาตา เจ้าหน้าที่เดินตามตลาดเห็น แต่ไม่จับไม่แจ้ง แล้วจะนับประสาอะไรกับการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ระบาดทางอินเตอร์เนต ซื้อง่ายขายคล่องทางเฟสบุ๊ค หรือแอ๊ปของเว็บขายของ

จริงอยู่ว่าของเหล่านี้อาจจะไม่ร้ายแรงเท่ายาบ้า ยาเสพติดที่ตำรวจให้ความสนใจ แต่ยาเหล่านี้ทำให้สุขภาพของคนแย่ลง คนซื้อตาย คนขายรวย ไม่ต่างจากการขายยาบ้า  ยิ่งทุกวันนี้ แร็ค ลานนา เห็นทางหน้าเพจ กลุ่มในเฟสบุ๊คหลายๆกลุ่มหลายเพจมีการโพสต์ขายยาลดน้ำหนักสารพัด แถมไม่ต้องกลัวถูกโกง เพราะนัดรับยา(นรก)ได้เลยที่ลำปาง แม่ค้าก็สบายไม่ต้องเสียเงินเช่าหน้าร้านรอลูกค้าให้เปลืองเงิน แต่ส่งของทางไปรษณีย์หรือเจอกันตัวเป็นๆ แจ่มกว่ากันเยอะ

ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้บ้าง
                       
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

ยางพารา จากใต้สู่เหนือ


ราแทบจะมองผ่านภาคเหนือไปเลย เมื่อมีปัญหาราคายางตกต่ำในภาคใต้ เพราะหากขยายออกไปอีก เราก็อาจนึกถึงภาคตะวันออกจากจังหวัดระยองขึ้นไปจนถึง จันทบุรี ตราด ที่เรียงรายสองข้างทางไว้ด้วยสวนยางพาราหนาทึบ หรือชาวบ้านอาจเรียกว่าป่ายาง หรืออีสานซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพารารองลงมาจากภาคใต้

แต่ในความเป็นจริงที่ภาคเหนือก็มีการทำสวนยาง มากที่สุดที่พะเยา และนับร้อยไร่ที่จังหวัดลำปาง ฉะนั้น ความเดือดร้อนที่ภาคใต้ ก็ส่งผลต่อภาคเหนือด้วยเช่นกัน

เพราะสวนยาง ทำรายได้มากกว่าสวนลำไย มากกว่าพืชพันธุ์เมืองหนาวชนิดอื่นๆ เอาเพียงลูกจ้างกรีดยาง อัตราค่าตอบแทนจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคายางที่ขายได้ ลูกจ้างกรีดยางจึงนับเป็นแรงงานที่มีค่าตอบแทนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างในภาคเกษตรอื่นๆ

ว่ากันในเชิงประวัติศาสตร์ ยางนั้นมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มาแล้วนับพันปี

สมุดบันทึก 50 ปี สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง บันทึกประวัติศาสตร์ การเดินทางของยางจากยุคชาวมายัน จนถึงประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

พันปีที่แล้ว มีหลักฐานจากการค้นพบรูปหินสลัก และภาพเขียนโบราณที่เล่าถึงการละเล่นเกมบอลที่ทำจากยาง ลูกใหญ่ขนาดเท่าหัวคน ในพิธีสักการะเทพเจ้าของชาวมายัน  ชนพื้นเมืองหลายเผ่าในแถบลุ่มน้ำแอมะซอน รู้จักเอาของมีคม สับหรือเจาะต้น เอายางมาใช้ประโยชน์

ชาวอินเดียนแดงทำรองเท้ายางด้วยการจุ่มเท้าลงในภาชนะบรรจุน้ำยางซ้ำหลายๆครั้ง จนได้ความหนาพอ ก็ได้รองเท้าเฉพาะของตัวเอง นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก แต่วันหนึ่งก็เดินทางมาถึงผืนแผ่นดินไทยอันอุดม ด้วยการนำเข้ามาโดยพระยารัษฏานุประดิษฐมหิศรภักดี หรือคอซิมบี้ ณ ระนอง สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

ส่วนภาคเหนือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เล่าว่า กำนันตำบลทุ่งกล้วย ในสมัยนั้น ได้พันธุ์กล้ามาจากเมืองตรังเมื่อปี 2533 มีคนในหมู่บ้านบางครอบครัวร่วมปลูก บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ต่อมาก็มีการขยายพันธุ์กล้ามาลงดินที่ลำปาง

สารคดี นิตยสารธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อม  บันทึกเรื่องราวของเลย ผาลา ชาวสวนยางรุ่นบุกเบิกของบ้านทุ่งกล้วยไว้ว่า ปีแรก  ผ่านไปอย่างทุลักทุเล เมื่อต้นยางโตพอที่จะกรีดได้แล้ว พวกเขากรีดยางไม่เป็น ต้องไปหัดที่ภาคตะวันออก กรีดยางแล้วขนไปขายที่ระยอง กลับก็ซื้ออุปกรณ์ทำสวนกลับมา

เมื่อเริ่มปลูกยางราคาดี เคยอยู่ที่ 10 กว่าบาท 20 กว่าบาท ขึ้นไป 10 เท่า ต้นปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคายางพาราพุ่งพรวดไปถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ถึงวันนี้ขอเพียงเศษของ 200 บาทก็ยังยากเย็น วันที่เคยเห็นยางพาราเป็นพืชทองคำ ก็กลับเป็นตะกั่วราคาถูก

ราคายางตกต่ำจึงเหมือนฝนที่ตกทั่วฟ้า เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนกันทั้งประเทศ จากใต้สู่เหนือ และจากตรังถึงพะเยา ขยายพันธุ์มาถึงลำปาง ถึงกระนั้นด้วยค่าแรงกรีดยาง ก็เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรยังคงต้องตื่นแต่เช้ามืด ในช่วงที่น้ำยางไหลแรง เพื่อหวังว่า ราคายางระดับ 200 บาทต่อกิโลกรัม จะกลับมาสักวันหนึ่ง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

“สื่อ” กับ “ศพ” บนเส้นทางจริยธรรม


มีความจริงหลายชุด ในนาทีชุลมุน จนผ้าคลุมหน้าปอเกือบหลุดออกมา ขบวนแถวพิธี พระสงฆ์นำ ต้องเสียกระบวน จากการเบียดเสียด ยัดเยียดของนักข่าว เพื่อให้ได้ภาพชัดที่สุด โดยเฉพาะภาพใบหน้าของปอ ที่แฟนคลับจะเห็นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนร่างของเขาจะลงไปนอนเหยีดยาวในโลง

คนกลุ่มหนึ่งวิพากษ์ วิจารณ์ ใช้ถ้อยคำ วาทกรรมแห่งความเกลียดชังสาดใส่นักข่าว ช่างภาพ ไม่ยั้ง ในขณะที่นักข่าวที่อยู่ ณ จุดเกิดเหตุ พยายามอธิบายว่าภาพที่เห็น ไม่ใช่ความจริง

พวกเขาพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แน่นอนว่าอาจรับฟังได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายส่วนก็ต้องยอมรับว่า นี่คือพฤติกรรมซ้ำซากของสื่อมวลชน ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบคาดหวังไม่ได้ว่าจากนี้ไป สื่อมวลชนจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างไร เพราะเมื่อเขายืนยันว่าไม่มีส่วนในการละเมิดสิทธิคุณปอ แต่ผู้ที่สร้างความวุ่นวาย เป็นนักข่าวผี เป็นคนนอก เป็นเคเบิลทีวีต่างจังหวัด การแก้ไขหรือทบทวนบทบาทอันเหมาะสมในการทำข่าวของสื่อมวลชนก็จะไม่เกิดขึ้น

นักข่าวหากินกับศพ หากินกับความทุกข์ยาก เดือดร้อนของคนอื่นมานานปี

เอาเฉพาะกรณีของ ปอ

นับจากวันแรกที่ปอ ทฤษฏี สหวงษ์ ล้มป่วยลง จนวินาทีสุดท้ายที่เขากลับออกมาด้วยร่างที่ห่มคลุมด้วยผ้าขาว ชีวิตครอบครัวของเขา ไม่เคยเป็นสุขเลย แม้จะมีความหวังเลือนราง แต่ทุกคนก็เตรียมใจไว้แล้วว่าวันนี้จะมาถึง

แถลงการณ์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ออกมาเป็นระยะๆแสดงถึงความพยายามประคับประคอง ชีวิตปอให้อยู่ให้นานที่สุด ด้วยหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ให้เขาฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ในยามนี้ ทุกคนที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ ย่อมรู้ดีว่า สิ่งที่พวกเขาปรารถนามากที่สุด คือความสงบ ความเป็นส่วนตัว สำหรับเวลาสุดท้ายกับคนที่รัก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปอและครอบครัวของเขาแทบไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้เลย ด้วยความพยายามที่จะรายงานทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปอ พ่อของเขา แม่ น้องชาย โบว์ และมะลิ เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ซุกชนไปตามประสา แต่ถูกละเมิดสิทธิโดยสื่อที่ขาดไร้ความรับผิดชอบ

จากนี้ไป ความทุกข์ ความเศร้าจะเข้าครอบครองชีวิตของพวกเขา หนักขึ้น รุนแรงมากขึ้น มีเพียงความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์เท่านั้นที่จะปลดปล่อยคนในครอบครัวสหวงษ์ ให้มีชีวิตเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปต่อไป

แต่ด้วยความต้องการเพียงขายข่าวให้ละเอียดที่สุด มุมกล้องดีที่สุด ใกล้ชิดมากที่สุด โดยไม่ใส่ใจว่าใครจะรู้สึกหรือคิดอย่างไร ภายใต้นายทุนและผู้บริหารกองบรรณาธิการที่หวังผลเพียงธุรกิจ คนเหล่านี้คือคนที่ทำมาหากินอยู่บนความทุกข์ร้อนของคนอื่น สร้างกำไรจากการซ้ำเติมโศกนาฏกรรมหรือความทุกข์ของคนอื่น

เมื่อสื่อมุ่งแต่จะเสนอข่าวเพียงเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ โดยปราศจากความรับผิดชอบ การปฏิเสธ ไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่ดู จึงอาจเป็นขั้นต้น ที่จะสั่งสอนพวกสื่อสวะให้เข้าใจและตระหนักถึงบทบาทที่ควรเป็น

อีกประเด็นหนึ่ง คือการตั้งคำถามกับผู้สูญเสีย เพราะคนอ่านชอบ เพราะคนดูอยากเห็น พวกเขาจึงต้องตอบสนองความต้องการเหล่านั้น เพราะคนติดตามข่าวอยากรู้ความรู้สึกถึงการสูญเสีย เขาจึงต้องตั้งคำถามแบบนั้น

ปี 2524 ราวหนึ่งปี หลังจากผมเริ่มอาชีพนักข่าว ร.ท.อนุวัฒน์ ศรีฟื้นผล ขับเครื่องบิน F - 5A ตกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระรามหก หน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย รายงานจากหอบังคับการบินบอกว่า เครื่องขัดข้อง และ ร.ท.อนุวัฒน์ ขอลงในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียจากเครื่องบินระเบิดบ้านเรือนประชาชน

เครื่องบินแตกกระจายเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย ร่างของ ร.ท.อนุวัฒน์ หายไปกับสายน้ำ นักข่าวถามพี่สาว ร.ท.อนุวัฒน์ว่า รู้สึกอย่างไรที่สูญเสียน้องชาย เธอหยิบสิ่งหนึ่งขึ้นมา และบอกว่านี่คือปอยผมของน้องชายฉัน จะให้ฉันรู้สึกอย่างไร

ความรู้สึกเช่นนี้ ทัศนคติที่มีต่อนักข่าวแบบนี้ อยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องเหล่านี้ระเบิดออกมา

และขอให้ระเบิดครั้งนี้ เป็นปรมาณูทำลายล้างเหลือบในวงการสื่อให้หมดไปเสียที


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

‘ฟู่หลง’ ซาลาเปาไฮโซ ธุรกิจด้วยใจสะใภ้ตระกูลดัง


จากสาวแอร์โฮสเตสมาเป็นแม่บ้านที่ชอบทำขนมให้ลูกและคนในครอบครัวทานวันนี้ “จิ๊บเขมมิตา” สะใภ้ในตระกูลดัง  “สัชฌะไชย” ลุกมาทำซาลาเปาขายเป็นธุรกิจเล็กๆภายใต้ชื่อ"ฟู่หลง"ซาลาเปาว่ากันว่าเป็นซาลาเปาไฮโซรสเลิศในราคาติดดิน ที่พัฒนาเป็นธุรกิจเฟรนไชน์ ในอนาคต

“ฟู่หลง ซาลาเปานับได้ว่าเป็นผลผลิตจากความตั้งใจที่สูงมาก เริ่มจากจุดเล็กๆที่ลูกชอบทานซาลาเปาลาวา เจ้าดังในกรุงเทพฯ ราคาแพงมาก แต่ก็อร่อยมาก โดยส่วนตัวชอบทำขนมและเคยเปิดร้านทำเค๊ก ขนมเบเกอรี่ต่างๆขาย จึงคิดอยากทำซาลาเปาลาวาให้อร่อยเท่ากับที่เราซื้อจากร้านดังให้ลูกทาน แต่การทำซาลาเปาเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนเบเกอรี่เพราะมีขั้นตอนเยอะกว่าจึงพยายามศึกษา ทดลองทำซาลาเปาลาวาสำเร็จ ก็เกิดแรงบันดาลใจให้อยากทดลองทำซาลาเปาไส้อื่นๆ เพื่อขายเป็นธุรกิจ จึงลงทุนซื้อเครื่องนวดแป้งแต่ได้ผลที่ไม่น่าพอใจ แป้งไม่ฟูนุ่ม ไม่สามารถเก็บได้นานเหมือนการนวดปั้นมือ ลองผิดลองถูก ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน เกือบแสนลูก ให้คนเพื่อน ญาติและคนรู้จักชิมแล้วชิมอีก ฟังดูเหมือนเวอร์เกินจริง แต่ด้วยความตั้งใจและเพียรพยายาม สุดท้ายเราจึงได้สูตรการทำซาลาเปาของตัวเองที่อร่อยและเป็นเอกลักษณ์”จิ๊บเขมมิตา สัชฌะไชย บอกเล่าถึงที่มาของซาลาเปาฟู่หลงอย่างมีอรรถรส

เอกลักษณ์ของซาลาเปาฟู่หลงคืออะไร

“ขณะนี้เราผลิตซาลาเปาเพียง 4 รส คือ ไส้หมูเห็ดหอม ไส้หมูแดงน้ำผึ้ง ไส้ครีม และไส้ถั่วดำ เอกลักษณ์ที่ภาคภูมิใจของซาลาเปาฟู่หลง คือวัตถุดิบ ส่วนผสมในซาลาเปาทุกลูก จะเน้นคัดสรรของที่มีคุณภาพที่สุด และยอมจ่ายต้นทุนการผลิตที่แพงแต่ลูกค้าจะได้ทานของอร่อย ดี มีคุณภาพ เช่นเดียวกับที่ทำทานเองที่บ้าน เช่น เรายอมจ่ายแพงซื้อหมูอนามัยเพื่อความมั่นใจว่าเนื้อหมูนั้นมาจากแหล่งผลิตที่สะอาด ไม่ใช้หมูผสมมันเพื่อลดต้นทุนแต่ทานแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ ผักเราก็คัดคุณภาพ ส่วนผสมอื่นๆ เราก็เลือกของเกรดเอทุกอย่าง ส่วนผสมบางอย่างเช่น เห็ดหอมเราก็ใส่ในปริมาณที่มากพอให้สัมผัสได้ว่าเรากำลังทานซาลาเปาไส้หมูเห็ดหอม แต่เราขายในราคาลูกละ 12 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถือว่าคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคและเราเองก็มีกำไรน้อยหน่อยแต่ไม่ขาดทุน แต่อยู่ในระบบธุรกิจได้ระยะยาว”

มาตรฐานการผลิตปูทางการตลาด

"จากเอกลักษณ์ของซาลาเปาฟู่หลงที่ค่อนข้างเด่นชัด เราเริ่มขายจากคนรู้จัก สั่งทำไปจัดเลี้ยง และขายออนไลน์ มีลูกค้าบอกต่อกันจนเริ่มรู้จัก มียอดขายเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจเปิดร้านเพื่อเป็นศูนย์กลางให้ลูกค้ามารับสินค้าและทานได้ที่ร้าน บริเวณตึกแถว ใกล้กับ อสมท.ลำปาง ถนนดวงรัตน์ ซึ่งเป็นอาคารของครอบครัวที่ปิดไว้นานแล้ว เราก็ไม่มีต้นทุนสูงมากสำหรับการเปิดหน้าร้าน จึงตอบโจทย์เรื่องราคาที่เราขายไม่แพงมากนักได้อีกข้อหนึ่งส่วนเรื่องการผลิตเราก็ปรับห้องทำขนมเค๊กเดิมที่บ้าน มาเป็นห้องผลิตซาลาเปาที่สะอาด มีสัดส่วนได้รับการดูแลและให้คำปรึกษาจากคุณแม่สามี (แพทย์หญิงอภิญญา สัชชะไชย เรื่องสุขอนามัยไม่ต้องห่วง) ส่วนเรื่องเครื่องมือก็มีความพร้อม ทั้งตู้อบอุณหภูมิ เตานึ่งที่มีมาตรฐานมีกำลังการผลิตวันละ 500 ลูก ที่สำคัญคือเรื่องคน จิ๊บเลือกคนที่จะมาทำงานเกี่ยวกับส่วนผสม ชั่ง ตวงวัด ที่จบระดับปริญญาตรี เพื่อให้ได้ทีมงานที่มีตอบโจทย์เรื่องของการรักษาคุณภาพมาตรฐานของซาลาเปาทุกลูก เราจึงกล้าพูดได้ว่าเป็น ซาลาเปาโฮมเมดมาตรฐานสูง”

เป้าหมายสู่ธุรกิจเฟรนไชน์

แม้จะใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ในการวางฐานรากของธุรกิจซาลาเปาฟู่หลง จากการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ชี้วัดได้จาก ลูกค้าหรือผู้ที่ชิมซาลาเปา จะต้องยกนิ้วให้คะแนนระดับความพึงพอใจสูงถึง 9 ใน 10 ลูก และกำลังพัฒนาสูตร ซาลาเปาไส้ไข่เค็ม และอื่นๆที่หาทานได้ที่ ร้านซาเลาเปาฟู่หลงเท่านั้น "นี่คือจุดเริ่มต้นของการวางแผนธุรกิจเฟรนไชน์ขนาดเล็ก ที่จะส่งต่อความอร่อยไปยังเป้าหมายการตลาดพื้นที่อื่นๆ กระจายรายได้ไปยังผู้สนใจทำธุรกิจขายซาลาเปาโดยไม่ต้องลงทุนผลิตเอง ในอนาคตอันใกล้นี้

“จิ๊บเขมมิตา” บอกในตอนท้ายของการสนทนาว่า มีคำถามมากมายจากเพื่อนและคนที่รู้จักว่า ชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างสบายตามฐานะครอบครัวที่มีธุรกิจอุตสาหกรรมครั่งอยู่แล้ว ทำขนมขายอาจเป็นแค่แฟชั่น หรือทำเอาแค่เพลิดเพลิน แต่ส่วนหนึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว จนสามารถพัฒนาให้เป็นธุรกิจเล็กๆ สร้างรายได้ให้กับคนทำงานอีกหลายชีวิต มีกิจกรรมให้แม่ของตนเองและคนในครอบครัวมีส่วนร่วมแบ่งปันของดีมีคุณภาพให้คนอื่นได้ทาน เพราะความตั้งใจอีกประการหนึ่งคือผลผลิตส่วนหนึ่งและผลกำไรอันน้อยนิดของธุรกิจนี้ จะถูกส่งต่อไปเป็นรูปของการทำบุญ และแบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาส ถือเป็นธุรกิจที่อาศัยเวลาว่างให้เกิดดอกออกผลงอกงามทางธุรกิจและสังคม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

รถไม่เลือกยี่ห้อน้ำมันเครื่อง



พวกเราผู้ใช้รถ มักจะถูก "ล้างสมอง" ให้ซึมซาบ ว่าน้ำมันเครื่องแบรนด์นี้เท่านั้น ที่คู่ควรกับรถคุณภาพสูงแบรนด์นี้

ที่ว่ามาเป้นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ ครับ ไม่มีเหตุผลด้านเทคนิคมาเกี่ยวข้อง เป็นความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เช่น ชื่อเสียงดีเยี่ยมด้วยกันทั้งสองฝ่าย ค่าชดเชยที่จ่ายโดยผู้ได้รับผลประโยชน์มากกว่า ก็อาจมีมูลค่าไม่มาก แต่ถ้าฝ่ายผลิตรถ มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนผู้ผลิตน้ำมันเครื่องกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องอาศัยชื่อเสียงของฝ่ายแรกมาเสริม แบบนี้ฝ่ายแรกก็มีสิทธิ์เรียกค่าตอบแทนได้สูงครับ กล่าวง่ายๆ ก็คือ ผู้ผลิตรถจะเป็น "ตัวยืน" ที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันเครื่องที่มาจับคู่ด้วย ในทำนอง "น้ำมันหล่อลื่นแบรนด์เราคุณภาพสูงพอ ระดับที่ผู้ผลิตรถชั้นยอดของโลกรายนี้เลือกเติมรถที่ผลิต และใช้ในศูนย์บริการ" ส่วนในแบบสวนทาง มักจะไม่ได้ผล และแทบไม่มีใครทำ เช่น "รถที่เราผลิต คุณภาพสูงพอ จนผู้ผลิตน้ำมันเครื่องชั้นยอดแบรนด์นี้ อยากหรือยอมให้ใช้กับรถของเรา" แบบนี้ไปไม่ไหวครับ

สรุปแล้ว ถ้าผู้ผลิตรถ หรือใครก็ตาม มาบอกว่ารถของเราต้องใช้ หรือ "ชอบ" แบรนด์ไหนโดยเฉพาะ อย่าไปเชื่อครับ ถ้าระดับคุณภาพสูงพอหรือสูงกว่ามาตรฐานที่ผู้ผลิตรถกำหนดไว้ และค่าความหนืดหรือความข้นเหมาะกับอุณหภูมิในย่านที่รถของเราถูกใช้งานตามที่ผู้ผลิตรถแนะนำไว้ ใช้ได้ทุกแบรนด์แหละครับ ข้อควรระวังที่สุดคือ น้ำมันเครื่องปลอมซึ่งผู้ใช้รถทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบได้ วิธีป้องกันที่ทำได้ คือตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้จำหน่าย เส้นทางจากต้นทางสังเกตฉลากและบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียด ปัญหานี้มีมาตลอด แต่กลับไม่มีคดี ไม่มีใครผลิตน้ำมันเครื่องปลอมเป็นล่ำเป็นสันได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ไม่เห็นหรอกครับ

ผมเคยเห็นเจ้าของรถสปอร์ตรายหนึ่ง สั่งเจ้าของอู่ซ่อม ให้เติมน้ำมันเครื่องที่ผู้ผลิตรถแบรนด์นี้แนะนำให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว จึงไม่กล้าแนะนำว่ารถคันที่เขาใช้อยู่นั้น ตอนออกจากโรงงานผลิต เขา "จับคู่" อยู่กับผู้ผลิตน้ำมันเครื่องอีกแบรนด์หนึ่งนะครับ แต่หมดสัญญากันไปแล้ว ถ้าทราบความจริง เจ้าของรถรายนี้ จะเลือกใช้แบรนด์ไหน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

เมื่อไดโนเสาร์ขยับเข้ามาใกล้


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส กำลังอ้าปากขยับตัวไปมาเด็กเล็ก ๆ สีหน้าตื่นตระหนก ส่วนเด็กโตกลับหัวเราะร่า แววตาเป็นประกาย สำหรับไดโนเสาร์แล้ว มันคงเป็นขวัญใจของใครหลาย ๆ คน ไม่เฉพาะแค่เด็ก ๆ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็หลงใหลทว่าคนพื้นถิ่นเหนืออย่างเรากว่าจะดั้นด้นไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือกรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามมากอยู่สักหน่อย

หลังพิธีวางศิลาฤกษ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 กรมทรัพยากรธรณีก็ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาจังหวัดลำปาง บริเวณพื้นที่ 10 ไร่ ด้านข้างเทศบาลตำบลเกาะคา อำเภอเกาะคา ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของภาคเหนือและเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์และรวบรวมซากโบราณ รวมทั้งหลักฐานทางธรณีวิทยาจาก 17 จังหวัดภาคเหนือไว้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้ที่สนใจตลอดจนเป็นแหล่งเก็บซากดึกดำบรรพ์ทางธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาที่สำคัญของภูมิภาคภาคเหนือ ภายในพิพิธภัณฑ์มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรณีพิบัติภัย ซึ่งมีความสำคัญและนับว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ ยังจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์หลากหลาย เช่น ไดโนเสาร์ ช้างโบราณ งา มนุษย์โบราณเกาะคา อุกกาบาต และทรัพยากรธรณีในจังหวัดลำปาง สามารถเข้าชมได้ฟรีในช่วงงาน “เขลางค์นคร ย้อนโลกดึกดำบรรพ์” ตั้งแต่วันที่ 18-25 มกราคมนี้เวลา 10.00-20.00 นาฬิกา

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีมีพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยาหลายแห่ง ที่เปิดบริการแล้ว ได้แก่ ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์สิรินธร อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ คลอง อำเภอธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี ศูนย์วิจัยแร่-หิน ตำบลแกลง อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง และที่พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา พระราม กรุงเทพฯ ส่วนพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557

สำหรับประเทศไทยล่าสุดก็ได้มีการค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ในสกุลและชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อสกุล คือ “สิรินธรน่า” ส่วนชื่อชนิดใช้ชื่อโคราช ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบ คือ “โคราชเอนซิส”

ในบรรดาไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ (อิกัวโนดอนต์เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีกระดูกสะโพกแบบนก ต่างจากไดโนเสาร์กินพืชพวกซอโรพอด หรือพวกคอยาว หางยาว ที่มีกระดูกสะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน) ขณะนี้ถือว่าประเทศไทยมีมากที่สุดในอาเซียน โดยพบแล้วถึง สกุลซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพันธุ์ใหม่ของโลก ทั้งสิรินธรน่า ราชสีมาซอรัส และสยามโมดอนยังไม่รวมไดโนเสาร์กินเนื้อที่ค้นพบที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำลังจะมีผลงานวิจัยออกมาว่าจะใช่ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่แผนการจัดสร้าง Dino Park มูลค่า 1,000 กว่าล้านที่เมืองย่าโม ส่วนพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง มูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่หลัก100 ล้าน ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่ คงต้องวัดกันว่าองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ของเรานั้น สร้างแรงบันดาลใจมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่า แรงบันดาลใจย่อมไม่ได้มาจากข้อมูลแห้ง ๆ บนบอร์ดนิทรรศการ แต่เกิดขึ้นจากความมีชีวิตชีวากลับมาบ้าน เด็กบางคนอาจฝันถึงการเป็นนักบรรพชีวินด้วยซ้ำไป

           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

ขายยางกำไรหดลดฮวบ70เปอร์เซ็นต์ชาวสวนดินหนีวิกฤติ



วิกฤตยางพารา กระทบผู้ปลูกลำปาง รายได้หายถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ต้องคิดวิธีหาทางรอด ปรับเวลาการกรีดยางให้ได้ผลผลิตมากที่สุด  ขณะที่ สกย.และสภาเกษตรฯ หาทางช่วย แนะอาชีพเสริมในช่วงราคาตก

ปัญหายางพาราตกต่ำกระทบเป็นวงกว้างทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารา ซึ่งชาวสวนยาง จ.ลำปาง ก็ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวครั้งใหญ่  หลังจากที่รายได้หายไปมากกว่าครึ่ง

นายสายัณห์  ปานพินิจ  เจ้าของไร่ชวนฝัน  ตั้งอยู่ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง  เปิดเผยว่า ไร่ชวนฝันมีเนื้อที่ 153 ไร่ แต่ก็แบ่งไปเป็นสระเก็บน้ำ 2 สระ  มีต้นยางอยู่ประมาณ 9,000 กว่าต้น ปลูกเกือบเต็มพื้นที่ เริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 47 ปลูกมาได้ 5 รุ่น  เราคิดปลูกเองในปีนั้นพอดีเนื่องจากเดิมทำสวนมะม่วงมาก่อนหน้านี้ได้ 18 ปี เป็นมะม่วงต้นเตี้ย ราคาก็ค่อยตกลงเรื่อยๆ  จึงมองหาพืชตัวใหม่ พบว่ายางพาราใช้สารเคมีน้อย น้ำน้อย ปุ๋ยน้อย  และร่มเย็นเหมือนปลูกป่า จึงเปลี่ยนจากมะม่วงเป็นต้นยางพาราทั้งหมด  และได้ผลผลิตมาเป็นปีที่ 4 แล้ว  แปลงไหนใหญ่โตพอก็กรีดได้  

ที่ผ่านมาได้ทำยางแผ่นขายเพราะราคาดี มาในช่วงฤดูกรีดปี 58 ต้องเปลี่ยนมาขายเป็นยางก้อนถ้วยแทน หลายสวนยางเลิกทำยางแผ่นไป เพราะเสียเวลา เงินหมดไปกับค่าแรงเยอะ ในขณะที่ราคาขายก็ไม่ดี  ครั้งแรกที่ขายยางแผ่นได้กิโลกรัมละ 186 บาท  ตอนนี้ราคายางแผ่นไม่ถึงกิโลกรัมละ 40 บาท 
รายได้ที่หายไปมีผลกระทบมากมาย  ส่วนตัวมองว่าเรื่องราคา เป็นเรื่องที่เกษตรกรแก้ไขไม่ได้มาก  แต่ที่เราทำได้คืออย่าขี้เกียจ  ต้องกรีดยางได้ให้ตามระบบ เพื่อให้ได้น้ำยางจำนวนมาก อย่าให้เสียโอกาสเพราะจะทำให้วันกรีดน้อยลง   นอกจากนั้นต้องเปลี่ยนหลักการกรีดยางใหม่ จากที่ต้องกรีดในช่วงดึกอากาศเย็น  แต่ในภาวะแบบนี้ ก็ต้องหาวิธีกรีดยางให้ได้มากที่สุด อาจจะมากรีดตอนเช้า  และกรีดหน้ายางให้สั้นลง เพื่อกรีดได้จำนวนต้นมากขึ้น  

นายสายัณห์ กล่าวต่อไปว่า  เรื่องราคาเป็นปัญหาอยู่แล้วทำให้รายได้ลดลง คนกรีดก็จะมีรายได้ลดลงด้วย  เพราะฉะนั้นก็จะหาคนงานได้ยากขึ้น เพราะคนงานจะไปเทียบค่าแรงกับการก่อสร้างที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท  ก็จะเปลี่ยนอาชีพไปทำงานก่อสร้างที่หางานได้ง่ายกว่า หลายสวนยางจึงขาดคนงานกรีดยางไป  การแบ่งเปอร์เซ็นต์กับคนกรีดยาง   เจ้าของได้ 60 คนกรีดได้ 40  แต่หากบางสวนยางที่มีความยากลำบากในการกรีด เช่น ต้องขึ้นเนินสูง น้ำไฟไม่มี ก็จะแบ่ง 50 ต่อ 50   ถ้าคนงานกรีดยางได้เยอะขึ้นเขาก็จะมีรายได้มากขึ้น  ช่วงนี้จึงต้องทำทุกวิธีการ  รวมทั้งการใช้สารเร่งที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง  จากยางที่ได้ 100 กิโลกรัม ก็จะได้ 150 กิโลกรัม  แทนที่จะไปกรีดตอนตีสอง อาจจะเปลี่ยนมากรีดตอน โมงเย็น  และกรีดได้อีกครั้งช่วงตีสี่  หากคนกรีดมีรายได้มากขึ้น เขาอยู่ได้เราก็จะอยู่ได้ และจะไม่ขาดแคลนแรงงาน  

“ไม่นึกว่าจะราคาตกลงมาขนาดนี้  รายได้ที่เคยมีลดลงไปอย่างมาก เทียบกันง่ายๆได้จากราคายางแผ่นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท  แต่ตอนนี้เหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 30 บาท รายได้จากปี 58 ลดลงจากปี 57 ราว 50 เปอร์เซ็นต์ ” นายสายัณห์ กล่าว

เจ้าของสวนยางพาราที่ อ.แจ้ห่ม  กล่าวว่า ตนเองปลูกยางพาราอยู่ 100 ไร่  เริ่มปลูกในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม เนื่องจากมีที่ดินอยู่แล้ว  เคยคุยกันเล่นๆว่ายางพาราตกมา 3 กิโล 100 บาท จะทำอย่างไร แต่ตอนนี้กลายเป็น 5 กิโล 100 บาทแล้ว เพราะยางก้อนถ้วยขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท  จากเดิมที่เคยมีรายได้เดือนละ 5-6 หมื่นบาท ลดเหลือ 2 หมื่นบาท  ยังดีที่ตนเองมีอาชีพเสริมด้วยการปลูกมันฝรั่ง จึงพอจะมีเงินหมุนเวียนมาบ้าง  และตอนนี้คงต้องมองหาอาชีพเสริมอื่นๆมาเพิ่มเติมด้วยอีกทางหนึ่ง

ด้านเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ต.บ้านแลง อ.เมือง   เปิดเผยว่า ตนมีพื้นที่ปลูกอยู่ 10 ไร่ ช่วงนี้ก็ต้องใช้สอยอย่างประหยัดมากๆ เพราะรายได้ของตนหายไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์  เดิมตนรับราชการและได้มองหาอาชีพเสริม จึงได้ลงทุนปลูกยางพารา เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนและมีตลาด มีความต้องการสูง ได้เริ่มปลูกเมื่อปี 48 เมื่อต้นยางโตสามารถให้ผลผลิตได้ ก็ลาออกจากงานและมาทุ่มเททำสวนยางอย่างเต็มที่ ในช่วงที่ยางขายได้ราคาดีก็มีเงินเก็บ  ซึ่งหลายคนก็ซื้อบ้านซื้อรถได้ แต่พอเกิดปัญหายางราคาตกต่ำ รายได้ที่มีหายไปก็ประสบปัญหาเรื่องเงินใช้จ่ายในการผ่อนบ้านผ่อนรถ  ส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้กันเกือบหมด อีกทั้งการเข้าโครงการกับรัฐบาลก็ได้เงินมาไม่มากนัก แต่ก็ยังดีที่มีมาช่วยเสริมบ้าง

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง (ศปจ.ลำปาง)  ร่วมกับสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.ลำปาง  สภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง  จัดอบรมให้ความรู้ในการนำวัตถุดิบจากต้นยางพารามาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร  รวมทั้งแนะนำอาชีพเสริมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชอื่นๆร่วมกับยางพารา

นายวันชัย เชาวลิต  ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  จ.ลำปางมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่ประมาณ  5-6 หมื่นไร่  ที่ได้รับผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 6-7 พันไร่ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทางการยางได้ร่วมกับสหกรณ์  พยายามแก้ปัญหาด้วยการทำการตลาด ซึ่งจะมีศูนย์รับซื้อยางที่เป็นตลาดมีราคาค่อนข้างดี  มาตรการที่สองคือการสร้างโรงงานแปรรูปที่ลำปาง ตอนนี้ได้งบประมาณ 36 ล้านบาท ที่กระทรวงมหาดไทยอนุมัติผ่าน จ.ลำปาง  กำลังอยู่ในกระบวนการของการก่อสร้าง ในพื้นที่ของสหกรณ์  อ.เสริมงาม  ปีหน้าจะได้ใช้ประโยชน์  เป็นการแปรรูปยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น   ในการประชุมครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ยางพาราน่าจะทำอะไรได้เยอะกว่านี้ เป็นสิ่งใหม่ที่มีความเป็นไปได้สูง เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ต้นยางพารามาผลิตเป็นพลังงาน เป็นทางเลือกที่ได้มากขึ้น ปัญหายางล้นตลาดก็จะไม่เกิด

ข้อดีของการตั้งโรงงานแปรรูป เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าของยางพาราจากต้นน้ำไปปลายน้ำ  ปัจจุบันเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายยางดิบ  เราจะแปรรูปเป็นยางแท่งพร้อมจะเข้าโรงงานอุตสาหกรรม   ไม่ต้องผ่านโรงงานเอกชนหรือพ่อค้าคนกลาง  ขั้นปลายสิ่งที่คิดต่อคือ ต้องการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่อไป นายวันชัย กล่าว

นายสวัสดิ์ ลาดปาละ  ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.ลำปาง   กล่าวว่า  เรื่องอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรหันมาทำอาชีพเสริม  ไม่ใช่การทำพืชเชิงเดี่ยว แต่แนวทางของเราเชิงนโยบาย คือต้องการให้ จ.ลำปาง จากเกษตรกรรมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม และเกษตรประดิษฐยกรรม  ซึ่งตอนนี้ได้เปิดคู่ค้ากับจีน และส่งออกไป ครั้งแล้ว  ตอนนี้ยังไม่มีโรงงานแปรรูปยางแท่งก็ได้ส่งเป็นยางก้อนไปก่อน  อาชีพเสริมมีนโยบายจากภาครัฐให้เกษตรกรกู้ได้ 1 แสน เพื่อมาทำอาชีพต่างๆ  ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการการยางของประเทศไทย ก็จะขับเคลื่อน 16 มาตรการของภาครัฐให้ไปสู่การปฏิบัติจริงให้ได้  หากทำทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป ไปสู่สินค้า อนาคตยางพาราก็อยู่ได้ และมองว่ายังเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกร

ผลผลิตของ จ.ลำปาง ประมาณ 700 กว่าตัน  ซึ่งสหกรณ์จะเป็นผู้รับซื้อ ราคาสูงกว่าท้องตลาด  ราคาแต่ละท้องถิ่นถือว่าใกล้เคียงกัน  แต่โอกาสที่สหกรณ์รับซื้อและนำไปแปรรูปส่งออก ก็จะขายได้ดีกว่าขายผ่านพ่อค้าคนกลาง   ยกตัวอย่างเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ขายยางก้อน 22 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางสหกรณ์รับซื้อ 25 บาทต่อกิโลกรัม  ราคาต่างกัน 3 บาท  แล้วในรอบปีที่ผ่านมาที่นำยางก้อนไปแปรรูปเป็นยางแท่งที่โรงงานขององค์การสวนยางที่อีสาน   สามารถซื้อสูงกว่าราคาในท้องถิ่นและได้กำไร ล้านบาท ก็นำเงินมาเฉลี่ยให้กับเกษตรกรที่นำยางมาขายกับเรา กิโลกรัมละ 80 สตางค์  และมีเงินปันผลอีกต่างหาก เราพยายามทำให้เกษตรกรมองเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์มีผลประโยชน์ให้เกิดกับเกษตรกร
มีสมาชิกอยู่ 500 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กรีดยางขายได้แล้ว ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกยางรายอื่นๆใน จ.ลำปางมีกว่า 4,000 คน   อยู่ระหว่างการปลูกยังไม่มีผลผลิต ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดลำปาง (ศปจ.ลำปาง)

นายศรีสะเกษ สมาน   หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  สภาเกษตรกรมีแนวทางให้ผู้ปลูกยางพาราหันมาสนใจอาชีพอื่นเพิ่มเติมมาขึ้นที่ไปด้วยกันได้   ไม่ควรไปตัดยางตามกระแส เลี้ยงให้ต้นโตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆได้ การผันผวนของราคาน้ำยางก็มีขึ้นลงอยู่แล้ว  ช่วงนี้ก็ควรจะหาอาชีพเสริมทำไปก่อน เช่น การเลี้ยงแพะ แกะ ไก่พื้นเมือง ในสวนยางพารา  การปลูกไผ่เสริม และการปลูกกาแฟในสวนยางพารา  สิ่งเหล่านี้ทางสภาเกษตร ได้ไปศึกษาจากผู้ที่ทำจนมั่นใจในระดับหนึ่งว่าทำได้ดี  ความยากคือเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแนวคิด  รวมกับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำถ่านจากยางพารา ซึ่งในอนาคตก็จะพัฒนาได้ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1063 วันที่ 22 - 28 มกราคม 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์