วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567

มหากาพย์จอกแหนเขื่อนกิ่วลม 10 ปี ปัญหาที่แก้ไม่จบ

 


หลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 67 ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาใหญ่กรณีแพนักท่องเที่ยวติดอยู่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลมไม่สามารถออกมาได้ เพราะโดนวัชพืชน้ำ ทั้งจอกหูหนู จอกแหน ผักตบชวา ปิดล้อมอัดแน่นทั่วบริเวณ  ซึ่งทางชลประทานได้ชี้แจงว่า   ปกติโครงการกส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา มีมาตรการติดตั้งทุ่นลอยเพื่อล้อมวัชพืชให้อยู่ในวงจำกัด แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดลมพายุพัดรุนแรงจนทุ่นลอยที่กั้นไว้เสียหายขาดออก จึงทำให้จอกแหนมาอัดแน่นตามภาพที่ปรากฎในข่าว   หลังเกิดเหตุทางชลประทานได้เร่งแก้ปัญหาโดยการนำเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ มากำจัดวัชพืชต่อเนื่อง   ซึ่งโครงการฯ มีแผนกำจัดวัชพืชอยู่แล้ว ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์  จากปริมาณวัชพืชในพื้นที่ 1,400 ไร่ กำจัดไปแล้ว 350 ไร่ จากแผน 728 ไร่ 



ต่อมาทาง กรมชลประทานได้นำทุ่นกั้นเป็นแนวล้อมวัชพืชควบคุมทิศทางไม่ให้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง พร้อมระดมเครื่องจักรกลและเรือกำจัดวัชพืชเร่งจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ภายในช่วง 2 สัปดาห์ สามารถกำจัดจอกแหนและวัชพืชได้ประมาณ 150 ไร่  และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนที่วางไว้ภายในปีนี้  เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของจอกแหนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต



ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายนิพลน์ ศรีวิลัย หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ร่วมกับนางอุไร เพ่งพิศ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทานใช้เทคโนโลยีเครื่องบินโดรนฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชในเขื่อนกิ่วลม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาวัชพืชในเขื่อนกิ่วลมด้วยอีกทางหนึ่ง



ล่าสุด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมาได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชในเขื่อนกิ่วลมตามแผนงานในปี 2567 ไปแล้ว จำนวน 489.81 ไร่ 39,185 ตัน คิดเป็น 67.28 % และยังมีวัชพืชบริเวณท่าแพสำเภาทองที่ต้องเร่งกำจัดให้แล้วเสร็จอีก จำนวน 238.19 ไร่  เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเรือแพเขื่อนกิ่วลม-สำเภาทอง ให้สามารถประกอบอาชีพ



สำหรับปัญหาจอกแหนในเขื่อนกิ่วลมนั้น   ลานนาโพสต์ได้นำเสนอเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2556  ต่อมาช่วงต้นปี  2558  ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจจอกหูหนูอีกครั้ง และพบว่าจนกระทั่งจอกหูหนูยังคงลอยละล่องทั่วผืนน้ำ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ทางชลประทานนำไม้ไผ่มากั้นไว้  จนมีการรวมตัวเป็น กองทัพจอกหูหนูที่อัดแน่นทุกตารางนิ้วจนดูเหมือนสนามฟุตบอล    ในครั้งนั้นทางหน่วยงานราชการ เช่น อำเภอแจ้ห่ม เกษตรอำเภอแจ้ห่ม พร้อมกับชาวบ้าน ได้ทำการทดลองฉีดสารเคมีเพื่อหวังจะทำให้จอกหูหนูแห้งตาย แต่สารเคมีไม่สามารถยับยั้งการแพร่พันธุ์ของจอกหูหนูได้



ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา  ผู้ดูแลรับผิดชอบเขื่อนกิ่วลม ยังคงตั้งหน้าตักจอกหูหนูอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งช่วงปลายปี 58 ได้ประสบวิกฤตน้ำแล้ง น้ำในเขื่อนลดปริมาณลงอย่างมาก ทำให้จอกหูหนูเริ่มแห้งตายไปกับผิวดิน  ตักขึ้นได้รวดเร็ว และหายไปจากเขื่อนกิ่วลม  แต่เมื่อถึงหน้าฝนที่ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น  จอกหูหนูที่แห้งเกาะติดอยู่ตามซอกหิน กลับเจริญเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว 

จนถึงขณะนี้ผ่านมา 10 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 11  ปัญหาจอกแหนเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้จบสิ้นเสียที  ขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำได้เพียงการตักออกเท่านั้น   แม้จะหายไปบ้างในบางปีที่แห้งแล้ง แต่บอกได้เลยว่า  “จอกหูหนูไม่เคยจะหมดไปจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม”  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

https://www.lannapost.net/2014/01/blog-post_9009.html

https://www.lannapost.net/2014/03/blog-post_9829.html

https://www.lannapost.net/2014/09/1.html

https://www.lannapost.net/2015/01/blog-post_54.html

https://www.lannapost.net/2020/02/blog-post_13.html


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์